กรุงไทยชี้ธุรกิจรีไซเคิลขยะผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพิ่มศักยภาพในการรับมือความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม

0
1565

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินตลาดรีไซเคิลไทย จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.7% จากมูลค่า 1.7 แสนล้านบาท ในปี 2019 มาอยู่ที่ 2.24 แสนล้านบาท ในปี 2024 หรือมีขนาด 1.2% ของจีดีพีรวม มองรีไซเคิลแพลตฟอร์มจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ เป็นตัวกระตุ้นการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ลดต้นทุนการเก็บขนขยะที่ไม่เป็นระบบ ทำให้ขยะรีไซเคิลที่มีคุณภาพกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เร็วขึ้น รวมทั้งสร้าง Big Data ที่ใช้สนับสนุนความยั่งยืนของธุรกิจ ใช้ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ทั้งการวางแผนธุรกิจ และออกแบบบรรจุภัณฑ์

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การรีไซเคิลถือเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ขยะหรือสิ่งของเหลือทิ้งต่าง ๆ ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจรีไซเคิลขยะมีมูลค่าประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2018 รายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจรับซื้อของเก่าและวัสดุรีไซเคิล โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์และเข้าข่ายเป็นธุรกิจรีไซเคิลมีจำนวนกว่า 3,484 ราย ประกอบด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้บริการแบบครบวงจร และผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจแบบเดี่ยวหรืออยู่ในกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง โดยมีรูปแบบแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป

“จากการศึกษาพบว่าใน 5 ปีข้างหน้า ตลาดรีไซเคิลของไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.7% สร้างรายได้กว่า 2.24 แสนล้านบาท ภายในปี 2024 หรือคิดเป็น 1.2% ของจีดีพีรวม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG Model) ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งภาครัฐได้ตั้งเป้าหมายลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2027 การขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ได้สร้างความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและกระตุ้นความต้องการวัสดุรีไซเคิลในกระบวนการผลิต แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่การไม่คัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนนี้ รีไซเคิลแพลตฟอร์มจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ขายและผู้รับซื้อขยะรีไซเคิล นำไปสู่การหมุนเวียนของขยะรีไซเคิลในวงจรเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น”

ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์อาวุโส กล่าวว่า จากการถอดประสบการณ์ของต่างประเทศ พบว่า Tech Startup ได้พัฒนารีไซเคิลแพลตฟอร์มร่วมกับการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อต่อยอดบริการ โดยรีไซเคิลแพลตฟอร์มช่วยลดค่าใช้จ่ายการกำจัดขยะลง 20-30% ลดค่าใช้จ่ายการเดินรถและเก็บขนขยะลง 50% และมีบริษัท Startup ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจัดการขยะกระจายทั่วโลกถึง 4,500 ราย สำหรับในไทย ขยะที่ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกต้องและยังไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะพลาสติกที่แต่ละปีมีการทิ้งเป็นขยะมากถึง 2 ล้านตัน แต่มีเพียง 25% ที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ ดังนั้น หาก Startup ไทยที่กำลังพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม นำโมเดลต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ เชื่อว่าธุรกิจจัดการขยะรีไซเคิลด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

รีไซเคิลแพลตฟอร์มในประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการขยายฐานผู้ใช้บริการ และพัฒนาความร่วมมือกับภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยภาคส่วนต่าง ๆ จะได้ประโยชน์จากการนำขยะมารีไซเคิลผ่านช่องทางออนไลน์ ในขณะเดียวกันผู้รับซื้อขยะรีไซเคิลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินรถและเก็บขนขยะ นอกจากนั้น ฐานข้อมูลที่รวบรวมได้จากรีไซเคิลแพลตฟอร์ม จะช่วยผู้ประกอบการรับมือกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคที่ธุรกิจสามารถนำไปใช้วางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาฉลากบนบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยลดต้นทุนของธุรกิจและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย”