กรุงศรีเผย กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50%

0
1556

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 10 ติดต่อกัน โดยมีคณะกรรมการ 2 รายมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.25% และอีกหนึ่งรายลาประชุม

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า การระบาดของ COVID-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโต ธปท. ได้ปรับลดการเติบโตของ GDP ปี 2564 และ 2565 ให้อยู่ที่ 0.7% และ 3.7% ตามลำดับ จากเดิมประมาณการ GDP อยู่ที่ 1.8% และ 3.9% สืบเนื่องมาจากตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจที่แสดงให้เห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 นั้นถดถอยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและยืดเยื้อกว่าเดิม ความล่าช้าของการเปิดประเทศและความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาคแรงงานเองก็เปราะบางยิ่งขึ้นในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นและการส่งออกที่เติบโตยังคงเป็นแรงสนับสนุนที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในโรงงานและการขาดแคลนวัตถุดิบ ล้วนเป็นอุปสรรคในระยะสั้นต่อการผลิต

สืบเนื่องจากแถลงการณ์ของ กนง. เงินบาทยังคงซื้อขายในอัตราทรงตัวที่ราว 33.80 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทนั้นอ่อนค่าลงกว่า 10% ในปีนี้ และแตะระดับอ่อนค่าสุดในระยะเวลา 16 เดือน โดยเงินบาทเป็นเงินสกุลที่อ่อนค่าที่สุดในภูมิภาค การอ่อนค่าของเงินบาทอย่างรุนแรงสะท้อนผลของการพึ่งพิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดย กนง. ตั้งข้อสังเกตว่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้นเป็นผลมาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญ

คณะกรรมการ กนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 29 กันยายน มติไม่เป็นเอกฉันท์ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพฤษภาคม 2563 และกรุงศรีเห็นว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่คณะกรรมการกนง.จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปควบคู่ไปกับการใช้มาตรการเฉพาะจุด กรรมการส่วนใหญ่มองว่าการใช้มาตรการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพนั้นมีความสำคัญกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่นับว่าเป็นอัตราที่ต่ำมากอยู่แล้ว กนง. ยังคงย้ำว่าสภาพคล่องนั้นยังมีอยู่ แต่การกระจายเงินทุนยังคงไม่สม่ำเสมอ และความเสี่ยงด้านเครดิตก็เพิ่มสูงขึ้น กรุงศรียังคงเฝ้าระวังวิกฤตด้านสาธารณสุขและผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมถึงปัจจัยอื่นๆที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป