กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 33.00-33.60 ลุ้นประชุมเฟด, ข้อมูลจ้างงานสหรัฐฯ

0
1433

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า

เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.60 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.20 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.98-33.38 บาท/ดอลลาร์ ในเดือนตุลาคมเงินบาทแข็งค่าราว 1.9% นำสกุลเงินภูมิภาค เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เงินยูโรผันผวนอย่างมากหลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คงนโยบายการเงินตามคาดและจะยังคงซื้อพันธบัตรในไตรมาสนี้ในอัตราที่ลดลงกว่าในช่วงต้นปี โดยอีซีบีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะ 4% ในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอลงในปี 2565 อีกทั้งอีซีบีพยายามที่จะสื่อสารกับตลาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำมากอีกหลายปีและเงื่อนไขต่างๆยังไม่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีหน้า ทางด้านธนาคารกลางแคนาดาประกาศยุติมาตรการซื้อสินทรัพย์ในทันที ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรออสเตรเลียพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่าผู้ดำเนินนโยบายอาจยกเลิกการเข้าแทรกแซงตลาดผ่านมาตรการควบคุมบอนด์ยิลด์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 6,822 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 5,746 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า เหตุการณ์สำคัญอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 2-3 พฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าจะประกาศเริ่มลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ ในอัตรา 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับพันธบัตรและ 5 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Mortgage-backed Securities) โดยอาจเริ่มจากกลางเดือนนี้ ส่วนการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) วันที่ 4 พฤศจิกายน กรุงศรีคาดว่ามีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 15 bps นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลการจ้างงานเดือนตุลาคมของสหรัฐฯ โดยกรุงศรีประเมินว่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนจากแนวโน้มที่ตลาดอาจปรับลดมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ซึ่งในช่วงนี้สะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่มากเกินไป ทางด้านผลการเลือกตั้งในญี่ปุ่นบ่งชี้ความต่อเนื่องของนโยบาย อย่างไรก็ดี สำหรับทิศทางค่าเงินเยนกรุงศรีให้น้ำหนักไปที่ปัจจัยตลาดโลกเป็นสำคัญ

สำหรับประเด็นในประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนกันยายนขาดดุล 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนีการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 3.9% และ 1.5% จากเดือนก่อนหน้าตามลำดับ โดยธปท. ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าด้านสูง ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ อนึ่ง กรุงศรีคาดว่าความเชื่อมั่นจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นตามแนวทางเปิดประเทศ อย่างไรก็ดี กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีแนวโน้มผันผวนสูง