กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.70-32.20 มองเฟดใช้แผนฉุกเฉินลดดอกเบี้ยกดดันสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง

0
1894

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.70-32.20 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.79 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือนท่ามกลางการร่วงลงอย่างรุนแรงของราคาหุ้นและพันธบัตร ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 2.47 หมื่นล้านบาท และ 3.32 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบทุกสกุลเงินสำคัญ ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนอย่างหนักจากความวิตกต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ขยายวงและลากยาวมากขึ้น ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 0.25% ก่อนกำหนดรอบประชุม ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศห้ามการเดินทางจากยุโรปเข้าสู่สหรัฐฯ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดจะยังผันผวนสูงตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดดอกเบี้ยลง 1.0% สู่กรอบเป้าหมายที่ 0.0-0.25% ในการประชุมฉุกเฉินวันที่ 15 มี.ค. และเฟดประกาศว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินเชื่อจำนองมูลค่าอย่างน้อย 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยระบุว่าการแพร่ระบาดของไวรัสกำลังกระทบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เฟดเพิ่งปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ในภาวะเช่นนี้ เราประเมินว่าเฟดกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญหากการใช้กระสุนดอกเบี้ยนัดสุดท้ายไม่สามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับมาได้ ซึ่งในกรณีนี้จะส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินตลาดเกิดใหม่เผชิญแรงขาย และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าช่วงต้นสัปดาห์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีกำหนดประชุมตามรอบปกติวันที่25 มี.ค. ถึงแม้จะไม่มีการเรียกประชุมฉุกเฉินแต่เราคาดว่ากนง.จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% จากระดับ 1.00% โดยภาวะชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังกระทบการจ้างงานในวงกว้างและยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ ยิ่งฉุดรั้งแนวโน้มการเติบโตให้ต่ำกว่าศักยภาพ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่ผู้ดำเนินนโยบายการเงินทั่วโลกร่วมมือกันเร่งลดดอกเบี้ยสู่ระดับต่ำมากเป็นพิเศษอาจทำให้กนง.ตัดสินใจง่ายขึ้นบ้าง