ttb analytics มองธุรกิจ Telemedicine เป็นปัจจัยพลิกโฉมระบบรักษาพยาบาลไทย คาดระยะเริ่มต้นจะครอบคลุมสิทธิ์ผ่านประกันกลุ่มกว่า 2.6 ล้านราย สร้างเม็ดเงินเพิ่มในปี 2566 เกือบ 6 พันล้านบาท บนศักยภาพที่ขยายได้หลายเท่าตัว

0
335

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดธุรกิจ Telemedicine จะสร้างรายได้ส่วนเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมสุขภาพของไทยในปี 2566 ราว 4-6 พันล้านบาท จากระบบประกันกลุ่มที่เอื้ออำนวยต่อการเข้ารับบริการ ทั้งนี้คาดธุรกิจ Telemedicine ยังมีศักยภาพขยายตัวต่อเนื่องทั้งในมิติของการเพิ่มศักยภาพและการขยายขอบเขตในการให้บริการ

Telemedicine คือ นวัตกรรมบริการทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีวิดีโอคอล เป็นบริการทางการแพทย์ที่ช่วยลดข้อจำกัดด้านเวลาในการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล การลดต้นทุนแฝง เช่น การขาดงาน ค่าเดินทาง รวมถึงประโยชน์ในมิติของความสะดวกสบายและความเป็นส่วนตัว กอปรกับสถานการณ์ที่กดดันจากช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้การรับการรักษาพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Minor Illnesses) หรือกลุ่มติดตามอาการ (Follow-ups) เริ่มถูกปรับรูปแบบการให้บริการแบบ Telemedicine เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาด Telemedicine ทั่วโลก ในปี 2566 มีมูลค่าสูงขึ้นแตะ 1.94 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากปี 2562 ที่ 4.99 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ บนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับศักยภาพ Telemedicine เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจนในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับการเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลโดยเฉพาะในคนไข้กลุ่มติดตามอาการ (Follow-ups) ส่งผลให้ตลาด Telemedicine ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าในปี 2568 มูลค่าตลาดจะขยับแตะ 2.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ของประเทศไทย พบว่า ตลาด Telemedicine ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น (Early Stage) ความพร้อมของผู้ให้บริการ และการตอบรับของผู้ใช้บริการ ที่คาดว่าจะขับเคลื่อนผ่านระบบประกันสุขภาพกลุ่มเป็นลำดับแรกซึ่งมีกว่า 2.6 ล้านกรมธรรม์ ในปี 2565 เริ่มมีการตอบรับการใช้สิทธิ์ผ่านระบบ Telemedicine เพื่อเข้ารับบริการการดูแลรักษาในฐานะผู้ป่วยนอก (OPD) โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ประกอบกับกลุ่มการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Minor Illnesses) หรือกลุ่มติดตามอาการ (Follow-ups) ที่รักษาโดยไม่ต้องรับการหัตถการจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือ กลุ่มที่รับการรักษาโดยการรับประทานยา นอกจากนี้ ตลาด Telemedicine ในไทยยังได้รับประโยชน์จากกลุ่มธุรกิจขนส่งบรรจุภัณฑ์ (Third Part Logistic) ที่มีพื้นที่บริการครอบคลุมเกือบทั้งหมดในจังหวัดหลัก ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ให้ถึงมือผู้เข้ารับบริการ Telemedicine ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงหลังเข้ารับบริการ

ด้วยเหตุนี้บนเงื่อนไขดังกล่าว ttb analytics จึงประเมินศักยภาพการเข้ารับการรักษาพยาบาลผ่านรูปแบบ Telemedicine ในปี 2566 จะช่วยเพิ่มจำนวนการเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยนอก (OPD) ได้
ตอบโจทย์จากความสะดวกที่ผู้เข้ารับบริการไม่ต้องเสียต้นทุนแฝงอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทางและการลางานที่อาจกระทบต่อผลการประเมินประสิทธิภาพงานในแต่ละปี ทำให้เพิ่มโอกาสการเข้ารับบริการทางการแพทย์ราว 15-20% หรือ 7-8 ครั้งต่อปี จากเดิมที่มีการเข้ารับบริการ 5-6 ครั้งต่อปี และคาดว่าจะช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนไทยเพิ่มขึ้นอีกราว 4,000-6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ รูปแบบการให้บริการในการดูแลรักษาผ่าน Telemedicine ยังคงมีศักยภาพสูงในการขยายตัวบนมิติต่าง ๆ ตามช่วงระยะเวลา ดังนี้

1) การขยายตัวในรูปแบบ Vertical Timeline ผ่าน Cross-Product เช่น การให้บริการ Telemedicine ในรูปแบบ Treatment ที่ไม่ต้องรับหัตถการ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการรับการรักษาบำบัดด้านความเครียดที่มีจำนวนมากขึ้นในระยะหลัง ซึ่งรูปแบบการรับบริการกลุ่มนี้ สอดคล้องกับข้อได้เปรียบของการให้บริการผ่าน Telemedicine ในมิติของความสะดวกด้านเวลา และ ความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี
2) การขยายตัวในรูปแบบ Horizontal Timeline เมื่อผู้ให้บริการมีความพร้อมสูงขึ้นจนสามารถเข้าสู่ระยะเติบโต (Growth Stage) โดยขยายการบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การบริการด้านการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติทางการแพทย์ (Laboratory Test) ถึงสถานที่พักอาศัย
3) การเข้าสู่ระยะการเติบโตในอัตราเร่ง (Expansion Stage) ศักยภาพของบริการ Telemedicine ที่ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม และเพิ่มโอกาสการขยายบริการเข้าสู่กลุ่มผู้รับบริการที่เป็นผู้ป่วยนอก (OPD) ซึ่งนอกเหนือจากประกันกลุ่มแล้ว เมื่อระบบ Telemedicine สามารถพัฒนาถึงการครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยสิทธิประกันสุขภาพทั่วหน้า (บัตรทอง) หรือ กลุ่มผู้ป่วยประกันสังคมได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการยกระดับศักยภาพระบบสาธารณสุขไทย เนื่องจาก ปัจจุบันสถานพยาบาลหลายแห่งมีจำนวนผู้ป่วยหนาแน่นเกินศักยภาพที่รองรับได้จนเกิดปัญหาด้านการจัดสรรทรัพยากรได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งหากระบบ Telemedicine สามารถลดจำนวนผู้ป่วยโดยเฉพาะในกลุ่มเจ็บป่วยเล็กน้อย (Minor Illnesses) หรือกลุ่มติดตามอาการ (Follow-ups) ครอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษาจะเป็นการช่วยลดความหนาแน่นของผู้ป่วยในแต่ละสถานพยาบาลได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรในการดูแลรักษาสุขภาพของผู้เข้ารับบริการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ในภาพรวมของธุรกิจสุขภาพไทย Telemedicine จะเป็นปัจจัยพลิกโฉมรองรับผู้ป่วยนอกได้ดีขึ้น โดยคาดว่าปี 2566 ได้เริ่มขับเคลื่อนผ่านระบบประกันสุขภาพกลุ่มเป็นลำดับแรก พร้อมทั้ง พัฒนาศักยภาพไปสู่การให้บริการกับกลุ่มคนอื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้ ยังทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การขนส่ง ไอทีต่าง ๆ ขยายตัวรองรับการเติบโตด้วยเช่นกัน