TMB Analytics ชี้วิกฤติโควิด ฉุด GDP ไทยปีนี้ แรงกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ดิ่งติดลบ 0.8% กระทบรายได้ภาคธุรกิจสูญกว่า 5 ล้านล้านบาท ชี้เป้าเร่งเยียวยาธุรกิจ SME ที่เข้าไม่ถึงมาตรการสินเชื่อ เกือบ 2 ล้านราย

0
1663

17 มีนาคม 2563: ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics (ทีเอ็มบี อนาลิติกส์) เผยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกรุนแรงกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2008 กดดันเศรษฐกิจไทยทั้งปี 63 หดตัว 0.8% และสร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจ 5.13 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะ กระทบธุรกิจ SMEs รายย่อยกว่า 2.6 ล้านแห่ง รายได้หดหายไป 20% 

วิกฤตไวรัส ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยรุนแรงเป็นประวัติการณ์ จากจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้มาตรการชัตดาวน์ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศที่เป็นกลุ่มคู่ค้าและตลาดนักท่องเที่ยวของไทย รวมทั้งการยกเลิกจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ สะท้อนจากนักท่องเที่ยวผ่านสนามบินหลัก 5 แห่ง ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมจนถึงขณะนี้ หดตัวถึง 65% และในไตรมาสสองมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไปถึง 93% ทั้งนี้ เราประเมินการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้าย แต่ยังไม่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2563 ลดลงเหลือ 18 ล้านคน (หดตัว 54.9%)

 ภาคการส่งออกส่งสัญญาณทรุดตัวคู่ขนานไปกับภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะส่งออกไปจีนในครึ่งแรกของปี 2563 คาดว่าจะหดตัวถึง 16.8% สินค้าที่ได้รับผลกระทบมาจากการชัตดาวน์ของประเทศจีน ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และยางพารา สำหรับการส่งออกไปตลาดส่งออกหลักอื่นๆ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ก็มีแนวโน้มหดตัวเช่นกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากซัพพลายเชนและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยหดตัวในสามไตรมาส และจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงท้ายปี ทำให้มูลค่าส่งออกทั้งปี 2563 ในรูป USD หดตัวถึง 7.3% 

นอกจากนี้ ภัยแล้งครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี จะส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรในปี 2563 ลดลง 10.5% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่กดดันการบริโภคภาคเอกชน ซ้ำเติมจากความกังวลของการแพร่ระบาดของไวรัสและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคภาคเอกชนในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว 0.3% 

ปลดล็อกงบประมาณภาครัฐ ดันเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบในไตรมาสสอง โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนมีแนวโน้มทยอยเบิกได้ในไตรมาสสอง ซึ่งมีโครงการที่ผ่าน TOR และลงนามแล้ว 3.5 แสนล้านบาทพร้อมเบิกจ่าย คาดอัตราเบิกจ่ายปีงบประมาณ 63 อยู่ที่ 60% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 70% ในปี 62 และเป็นระดับที่ต่ำกว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 55 ที่เบิกจ่ายล่าช้าไป 5 เดือน อย่างไรก็ดี คาดเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะสามารถเบิกจ่ายในระดับ 80% สูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐโดยรวมขยายตัว 2% เป็นปัจจัยบวกประคองเศรษฐกิจ 

จากผลกระทบที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวและส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (มีน้ำหนักรวมกัน 70% ของ GDP) ทำให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวถึงสามไตรมาส หรือเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคในครึ่งปีแรก (หดตัว 2.3%) ก่อนที่จะพลิกฟื้นขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสี่ ส่งผลให้ภาพเศรษฐกิจทั้งปี 2563 ยังคงเป็นทิศทางหดตัวที่ 0.8% แม้มีแพคเกจพยุงเศรษฐกิจทยอยออกมาในทุกไตรมาส แต่เชื่อว่ายังไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากความเสียหายในภาคการท่องเที่ยวและส่งออกได้

ประเมินความเสียหายจากโควิด-19 รุนแรงกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008-2009 โดยเฉพาะการหดตัวลึกของภาคการท่องเที่ยว ในแง่ความรุนแรง ประเมินการท่องเที่ยวในปีนี้จะได้รับผลกระทบแรงกว่า โดยหดตัวลึกถึง 37% เทียบกับในปี 2009 ที่หดตัว 11.9% เราประเมินวิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีจุดต่ำสุดในไตรมาสสอง คาดการท่องเที่ยวใช้เวลาฟื้นตัว 2 ไตรมาส ขณะที่ ภาคการส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบรุนแรงน้อยกว่าในปี 2009 ที่ส่งออกสินค้าหดตัวมากถึง 23% สำหรับอีกองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะหดตัวในระดับใกล้เคียงกันที่ 2% และการฟื้นตัวจะใช้เวลานานกว่า 2 ไตรมาส 

คาดกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะกรอบล่างที่ 0.50% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก สำหรับค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติไวรัสโควิดและการไหลออกของเงินทุน โดยเคลื่อนไหวในช่วง 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

TMB Analytics ประเมินวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำภาคธุรกิจไทยสูญรายได้กว่า 5.13 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 30% ของ GDP) กิจการ SMEs รายย่อยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักสุด จากการวิเคราะห์รายได้ที่คาดว่าจะเสียหายในกลุ่มธุรกิจขนาดต่างๆ โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลโครงสร้างผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศ จำนวน 3 ล้านราย ที่มีการจ้างงาน 16.3 ล้านคน พบว่าธุรกิจ SMEs รายย่อยจะมีรายได้ลดลง 1.7 แสนล้านบาท หรือลดลง 20.2% รองลงมาเป็นธุรกิจ SMEs รายเล็ก มีรายได้ลด 5.2 แสนล้านบาท หรือลดลง 12.5% ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่รายได้จะลดลง 10-11% 

ในแง่พื้นที่หลักที่ ผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กรายย่อยได้รับผลกระทบสูงสุด 10 อันดับแรก กระจายอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ซึ่งคาดว่าจะสูญเสียรายได้รวมกัน 5 แสนล้านบาท กระทบผู้ประกอบการ 1.17 ล้านราย และการจ้างงาน 3.79 ล้านคน อุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กรายย่อยได้รับผลกระทบสูงสุด 10 อันดับแรก หลักๆ ได้แก่ กลุ่มการบริการ การขนส่ง ค้าปลีก และอื่นๆ ซึ่งโดยรวมมีการสูญเสียรายได้ 5.2 แสนล้านบาท หรือรายได้ลดลง 24% กระทบผู้ประกอบการ 1.92 ล้านราย กระทบแรงงาน 3.11 ล้านคน และประเด็นที่น่าสนใจคือเป็นกลุ่มที่ เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพียง 8.5

ประเมินธุรกิจ SMEs รายย่อยเข้าถึงแพคเกจ Soft Loan จากภาครัฐได้น้อย มาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ล่าสุดเป็นมาตรการสู้ภัยโควิด-19 ซึ่งหลักๆ เป็นมาตรการสินเชื่อและมาตรการด้านภาษี โดยมาตรการภาษี ครอบคลุมทุกกิจการที่อยู่ในระบบภาษี แต่ผลประโยชน์ของมาตรการจะเกิดในรอบบัญชีถัดไป ขณะที่มาตรการสินเชื่อจะเห็นเม็ดเงินเยียวยาภาคธุรกิจได้เร็วภายในปีนี้ แต่ความท้าทายอยู่ที่จำนวนกิจการที่สามารถเข้าถึงมาตรการ หรือเข้าข่ายได้รับ Soft Loan มีมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์โดยใช้เกณฑ์การเข้าถึงแหล่งเงินทุน พบว่าธุรกิจ SMEs รายเล็กและรายย่อย ที่สามารถเข้าถึงมาตรการได้มีจำนวน 1.2 แสนราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.9% ขณะที่ กิจการกว่า 2.9 ล้านราย หรือ 96% เข้าไม่ถึงมาตรการสินเชื่อ ทั้งนี้ ควรมีมาตรการทางการเงินเป็นการเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งด่วน