On Leadership “5 แรงขับเคลื่อนพื้นฐานสู่ชัยชนะ” ตอนที่ 1

0
2079

สวัสดีครับ คุณผู้อ่านทุกท่าน พบกับ On Leadership ครั้งนี้ เป็นงวดเดือนกันยายน ถ้าเป็นมวยชก 12 ยก นี่คือการชกในยกที่ 9 แล้วครับ แปดยกที่ผ่านมาการชกและผลคะแนนเป็นอย่างไรกันบ้างครับ สถานการณ์เป็นต่อหรือเป็นรอง หรือเสมอไหนเสมอกัน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมที่จะประเมินผลและแก้เกมการชกใน 4 ยกที่เหลือด้วยนะครับ และเพื่อให้ผู้นำทุกท่านมีพลังในการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ในช่วงโค้งสุดท้าย ครั้งนี้ ผมจึงขอแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับ “5 แรงขับเคลื่อนพื้นฐานสู่ชัยชนะ” ดังนี้ครับ

1.แรงขับเคลื่อนที่ใช้ในการควบคุม

การนำพาตนเอง ทีมงานหรือองค์กรไปในทิศทางที่เราต้องการนั้น มีแรงขับเคลื่อนบางแรงที่เราจำเป็นต้องควบคุมมันได้ จึงจะส่งผลให้เราสามารถเคลื่อนตัวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักๆที่เราต้องควบคุมให้ได้ มี 3 แรงหลัก ดังนี้

1.1 การควบคุมทัศนคติและนิสัยของตัวเอง

ทัศนคติเป็นเรื่องของความคิดที่มีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อเหตุการณ์ ต่อปัญหาและต่อสิ่งอื่นๆที่เข้ามากระทบในชีวิต ส่วนนิสัยเป็นส่วนของการปฏิบัติต่อทั้งตนเอง ต่อผู้อื่นและต่องาน ถ้าเราควบคุมสอบแรงนี้ไม่ได้ เราจะไม่มีความแน่นอน ไม่มีความคงเส้นคงวา และประเด็นสำคัญคือ ถ้าเราควบคุมทัศนคติที่ดีและนิสัยที่ส่งเสริมของตัวเองไม่ได้ ทัศนคติและนิสัยด้านตรงข้ามที่เป็นอุปสรรคต่อขีวิตจะเข้าแทรกแซง จนส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้าของเรา ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องควบคุมทัศนคติและนิสัยของตัวเองให้ได้

1.2 ควบคุมให้ชีวิตได้พบกับความแปลกใหม่

กฎแห่งการสร้างชีวิตที่เป็นความจริงแท้ว่าไว้ว่า “ชีวิตคุณจะไม่เปลี่ยน ถ้าตัวคุณไม่เปลี่ยน ผลลัพธ์ของคุณจะไม่เปลี่ยน ถ้าคุณมัวแต่ทำสิ่งเดิมๆ” ในขณะที่ธรรมชาติของคนก็ติดกับดักของความกลัวและการติดยึดอยู่ในพื้นที่สบายใจ การที่เราจะก้าวข้ามความกลัวเพื่อขยายพื้นที่สบายใจให้ใหญ่ขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องควบคุมให้ชีวิตได้พบกับความแปลกใหม่ ในรูปแบบของแนวคิด การเรียนรู้ สถานที่ กลุ่มสินค้า กลุ่มลูกค้าและการลงมือทำในสิ่งที่แปลกใหม่ ซึ่งมาจากความคิดสร้างสรรค์จนก่อเกิดเป็นนวัตกรรมได้

1.3 ควบคุมกระบวนการทำงาน

การสร้างผลลัพธ์ในเรื่องใดๆก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ทุกสิ่งที่เกิดล้วนเกิดขึ้นจากกระบวนการทำที่ต่อเนื่อง มีต้นน้ำ มีกลางน้ำและปลายน้ำ หากเราไม่สามารถควบคุมต้นน้ำ กลางน้ำ เราก็ไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ที่เกิดได้ ดังนั้น การเอาใจใส่และควบคุมมาตรฐานการทำงานในทุกๆจุดของกระบวนการ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

2.แรงขับเคลื่อนที่ใช้ในการแสดงความสามารถ

การสร้างผลผลิตนั้น มีต้นเหตุมาจากความสามารถในการสร้างผลผลิต ดังนั้น แรงขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความสามารถและการดึงความสามารถออกมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ จึงเป็นหัวใจสำคัญ โดยเราต้องดูแลใน 3 เรื่อง ดังนี้

2.1 ดูแลความปรารถนาและแผนงานในการเรียนรู้ของตัวคุณ

โจทย์ข้างนอกที่เราต้องแก้มันยากขึ้นทุกวัน มีหนทางเดียวที่เรายังคงมีโอกาสแก้โจทย์ได้คือ การอัพเกรดแนวคิด ความรู้ ความสามารถและเพิ่มพูนทักษะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทย์ของเราอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้น เมื่อเราตระหนักรู้ว่าทำไมเราต้องพัฒนาตน มีแรงปรารถนาและมีแผนงานเรียนรู้พัฒนา จากนั้นก็ควบคุมตนเองให้ลงมือพัฒนาตามแผนงาน

2.2 มีเป้าหมายที่ท้าทาย วางแผนและยืนหยัดจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

ทุกคนที่ต้องการความสำเร็จ ต้องผ่านขั้นตอนของการขยายตัว ซึ่งทำได้โดยการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย วางแผน ลงมือทำ หาโค้ชให้คำปรึกษา และประเมินเรียนรู้จากอุปสรรคปัญหา ที่สำคัญคือการยืนหยัดที่นานพอจนบรรลุเป้าหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นระดับใหม่ของตัวเราและของทีม ถ้าเรายืนหยัดจนสร้างผลงานระดับใหม่ได้ เราจะมีโอกาสสร้างผลงานในระดับที่สูงถัดขึ้นไปได้อีก แต่ถ้าเรายอมไปก่อน ก็ต้องถอยกลับไปสู่การยอมรับผลลัพธ์ระดับเดิม

2.3 รวมความสำเร็จกับตัวตนของคุณเข้าด้วยกัน

จงอย่าให้ความสำเร็จแยกส่วนกับตัวคุณ ซึ่งคุณจะรวมพลังแห่งการสร้างได้ คุณต้องเข้าใจหลักของการเป็นคนสำเร็จ อย่าเข้าใจแค่ระดับการได้ความสำเร็จ การเป็นคนสำเร็จหมายถึงการมีความรู้สึกแบบคนสำเร็จ การเรียนรู้ให้มีความคิด ความสามารถแบบที่คนสำเร็จมี การลงมือทำที่กระตือรือร้นและเชื่อมั่นอย่างที่คนมำเร็จทำ การมีจังหวะหายใจและแววตาอย่างที่คนสำเร็จเป็น ถ้าคุณพัฒนาตนจนเป็นเครื่องส่งความสำเร็จ ในที่สุดคุณก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายในระดับที่ท้าทายยิ่งๆขึ้นไป

เป็นยังไงบ้างครับ คุณผู้อ่าน อ่านแล้วพอได้แรงขับเคลื่อนบ้างมั๊ยครับ ถ้าได้ เดี๋ยวเรามาว่ากันต่ออีกสามแรงขับเคลื่อนในเดือนหน้ากันนะครับ สำหรับครั้งนี้ ลองนำสองแรงขับนี้ไปใช้ก่อน ผมเชื่อว่าถ้าแต่ละท่านใช้มันด้วยความเข้าใจ จะสามารถช่วยให้ท่านเคลื่อนตัวเองและทีมไปสู่เป้าหมายได้ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ