Krungthai COMPASS มองส่งออกไทยปีนี้ยังไม่ฟื้น แม้ตัวเลขไตรมาสแรกขยายตัว 0.91%

0
1558

ส่งออกเดือน มี.ค. ขยายตัว 4.17% หลัง COVID19 ดึงยอดส่งออกทองคำอิเล็กทรอนิกส์พุ่ง 

ส่งออกเดือน มี.ค. (ในรูปดอลลาร์ฯ) พลิกกลับมาเป็นบวก 4.17% โดยสาเหตุหลักมาจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกตลาดถึง 215.2% โดยเมื่อหักทองคำแล้วนั้น ส่งออกเดือนนี้จะขยายตัวเพียง 0.5% ขณะที่ส่งออกไตรมาสแรกขยายตัว 0.91% (หักทองแล้ว -3.27%) 

ภาพรวมสินค้าอุตสาหกรรมเดือนนี้ขยายตัวได้ดีถึง 6.4% โดยสินค้าหลักที่ขยายตัวได้แก่ ทองคำ (+215.2%) เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ (+17.3%) และเครื่องปรับอากาศฯ (+8.1%) อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (ซึ่งมีสัดส่วนถึง 8.12% ของการส่งออกในเดือน มี.ค.) โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก (-15.3%) และเคมีภัณฑ์ (-14.8%) สำหรับสินค้าเกษตรยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องที่ติดลบ 5.8% จากหลายประเทศประกาศปิดเมืองจึงทำให้การส่งมอบล่าช้ารวมถึงปัญหาภัยแล้ง กระทบสินค้าหลักอย่างยางพารา (-24.7%) ข้าว (-13.2%) และมันสำปะหลัง (-13.1%) 

ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญ พบว่า COVID19 กระทบการส่งออกในหลายตลาด

  • สหรัฐฯ: ขยายตัว 19.5%(หักอาวุธยุทธปัจจัย) จากกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องปรับอากาศฯ และข้าว ขณะที่ไตรมาสแรกหดตัว 2.7%
  • จีน: หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 4.8% โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และยางพารา โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ไตรมาสแรกหดตัว 0.9%
  • EU15: พลิกกลับมาหดตัวที่ 14.8% โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว คือ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ไตรมาสแรกหดตัว 4.6%
  • ASEAN 5: ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 6.8%ซึ่งสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อากาศยานฯ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศฯ น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกขยายตัว 5.7%
  • CLMV: ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ระดับ 2.9%โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวยังเป็นกลุ่มเดิม ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ น้ำตาลทราย เครื่องปรับอากาศ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องจักรกล ขณะที่ไตรมาสแรกขยายตัว 2.7%

ในส่วนของการนำเข้าเดือน มี.ค. ขยายตัว 7.25% จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่พลิกกลับมาขยายตัว 12.0% และสินค้าเชื้อเพลิง 9.0% สวนทางกับสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภค -5.5% และ -4.9% ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าในไตรมาสแรกหดตัว 1.92%

ด้านดุลการค้าเดือน มี.ค. ยังเกินดุลที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยในไตรมาสแรกเกินดุลที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์ฯ

คาดส่งออกไทยปีนี้ยังไม่ฟื้น หลัง COVID19 อาจสะเทือนมูลค่าการค้าทั่วโลกปีนี้เสียหายกว่า 1 ใน 3

แม้สถานการณ์โรค COVID19 ในไทยดูจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นกว่าหลายๆ ประเทศ แต่จากการรายงานล่าสุดของทั้ง IMF และ World Bank กลับมองสอดคล้องกันว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเจ็บหนักสุดในอาเซียน ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบที่รุนแรงกว่าทุกประเทศ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวและส่งออกสูงถึงเกือบ 70% ตลอดจนการดูดซับแรงงานไปสู่ภาคเกษตรก็ทำได้ยากในช่วงวิกฤตภัยแล้งเช่นนี้  โดย Krungthai COMPASS คาดว่าส่งออกไทยปีนี้จะติดลบ 8.6% พร้อมทั้งประเมิน 3 แรงกระเพื่อมหลักจาก COVID-19 ต่อการส่งออกในระยะต่อไป ดังต่อไปนี้

1) ดีมานด์จากจีนชะลอตัวจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้ากว่าช่วงวิกฤตโรคซาร์ส แม้จีนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอก 2 ยังมีอยู่ ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่เริ่มขยายตัวชะลอลงมาตั้งแต่ปี 2011 ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจไม่รวดเร็วดังเช่นช่วงที่เกิดซาร์สที่จีดีพีจีนขยายตัวสูง ขณะที่ผลการสำรวจของสภาหอการค้าสหรัฐฯ ในจีน (AmCham China) เดือนล่าสุด ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า หากเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นก่อนไตรมาสสุดท้ายของปี จะกระทบรายได้ของภาคธุรกิจในจีนให้ลดลง 10-50% ท่ามกลางความเปราะบางของระบบการเงินและความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1/2020 ก็ติดลบสูงถึง 6.8%YoY โดยถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1976 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการประกาศใช้มาตรการ Lockdown เมืองสำคัญ สอดคล้องกับ IMF ที่ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้ว่าอาจขยายตัวได้เพียง 1.2% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 6%

  • กลุ่มที่ส่งออกสินค้าเพื่อป้อนตลาดจีนเป็นหลัก คาดว่าความต้องการจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้นจากการใช้จ่ายที่ชะลอไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ (Pent-up demand) ของมาตรการปิดเมือง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่อ่อนไหวต่อดีมานด์ของผู้บริโภค เช่น ข้าว ผักและผลไม้สด ซึ่งไทยส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 ถึง 28.1% ในปีที่ผ่านมา รวมทั้งคู่แข่งในสินค้าหลักอย่างเวียดนามที่ประกาศห้ามส่งออกสินค้าเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ (คาดว่าจะปลดล็อคมาตรการนี้ภายในเดือน พ.ค.) แต่คาดว่าหลังจากนี้มีโอกาสปรับตัวลดลง
  • กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่จีนส่งออกไปประเทศที่ 3
    ในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งใน Forward linkage โดยเฉพาะสินค้าขั้นต้น-ขั้นกลาง อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และยางพารา ซึ่งคาดว่าจะหดตัวต่อไป สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตเพื่อการส่งออก (New Export Order) ที่แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นจาก 28.7 จุดในเดือน ก.พ. เป็น 46.4 จุดในเดือน มี.ค. 2020 แต่ถือว่าการผลิตยังอยู่ในระดับหดตัว
  • กลุ่มที่พึ่งพาวัตถุดิบหลักจากจีน คาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างรุนแรง
  • 2) เศรษฐกิจและการค้าโลกดิ่งลึกจากมาตรการ Lockdown และ Social Distancing
  • ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายแห่งทั่วโลกทั้งภาคการผลิต การท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศรวมถึงการจ้างงานแทบจะเรียกได้ว่า “หยุดกะทันหัน” โดยคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกปี 2020 อาจติดลบถึง 3% (ข้อมูลจาก IMF) และมีโอกาสที่จะดิ่งลึกลงไปอีก หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ ขณะที่รายงานจาก WTO เดือน เม.ย. ก็ได้ประเมินว่า มูลค่าการค้าโลกจะหดตัวมากถึง 1332% ซึ่งรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2009 ที่หดตัว 12.5% และย่อมส่งผลต่อภาพรวมการค้าของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ อุปสงค์น้ำมันดิบที่ลดลง สวนทางกับอุปทานที่พุ่งพรวด ยิ่งทำให้ส่งออกไทยตกที่นั่งลำบาก โดยราคาน้ำมันดิบเข้าสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี ทำให้รายได้ของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบเป็นหลักลดลง กระทบไปยังงบประมาณรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งต่อไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่จะชะลอลงตาม โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ ได้แก่ รถยนต์ อัญมณี สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องจักรกล เป็นต้น นอกจากนั้น ราคาน้ำมันที่ลดลงยังทำให้มูลค่าสินค้าส่งออกไทยที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันอย่างเคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติกก็แนวโน้มหดตัวเช่นกัน

3) COVID19 ทำให้ภาพ Global Supply Chain ในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไป ในช่วง 20 ปี
ที่ผ่านมา จีนมีบทบาทสำคัญต่อ Global Value Chain ในแง่ “ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าขั้นกลางของโลก” โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากในปี 2002 ที่ระดับ 4% เป็น 20% ของมูลค่าการค้าสินค้าขั้นกลางทั่วโลกในปัจจุบัน โดยทุกวันนี้ จีนกลายเป็นผู้ผลิตเหล็กกล้ากว่าครึ่งหนึ่งของโลก ผลิตปูนซีเมนต์ได้กว่า 60% ของการผลิตโลก และสามารถผลิตสมาร์ทโฟนได้ถึง 70% ของสมาร์ทโฟนทั้งโลก[1] ทั้งนี้ การอุบัติขึ้นของ COVID-19 ทำให้คลื่นลูกแรกกระทบโรงงานอุตสาหกรรมในอู่ฮั่นของจีน ซึ่งนับรวมถึงเครือข่ายอุตสาหกรรมการผลิตของจีนในอาเซียน ก่อนที่คลื่นลูกที่สองจะลุกลามไปยังเกาหลีใต้และญี่ปุ่นจนทำให้สายพานการผลิตในกลุ่มสินค้าไฮเทคและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต้องหยุดชะงัก ขณะที่คลื่นลูกที่สามได้ถาโถมไปทางฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีมูลค่าสูง อาทิ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ แน่นอนว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กระจายไปในวงกว้าง ย่อมทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ Mckinsey & Co มองว่า ในระยะข้างหน้า โครงสร้างภาคการผลิตทั่วโลกจะเปลี่ยนไป โดยจะมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงมีการปรับใช้ดิจิทัลในการจัดการห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบมากขึ้น ตลอดจนมีการประเมินและทบทวนแผนงานที่กำหนดของอุปสงค์และอุปทานและผลทางการเงิน (Sales and Operation Planning: S&OP) เป็นประจำเพื่อสะท้อนความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด นอกจากนี้ เราอาจเห็น Trade Protectionism หรือ การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น เช่น การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าที่เข้มข้นขึ้น การจำกัดการส่งออกสินค้าจำเป็นบางประเภทเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและการค้าโลกลดลงหลังวิกฤต COVID19 และย่อมเพิ่มอุปสรรคให้ภาคการส่งออกไทยมากยิ่งขึ้น

Our View

  • ส่งออกเดือน มี.ค. ที่เป็นบวกมาจากการส่งออกทองคำเป็นหลัก โดยส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ ขยายตัวถึง 4.17% แต่หากหักทองคำจะขยายตัวเพียง 0.5% ขณะที่การส่งออกไปจีนช่วงเวลาเดียวกันกลับหดตัวถึง 4.8% จากมาตรการปิดเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. เพื่อควบคุมโรค COVID-19 ซึ่งเหล่านี้เป็นเพียงผลกระทบจากการชัดดาวน์เมืองหลักในจีนเท่านั้น ทำให้ภาคการผลิตของไทยยังคงน่าเป็นห่วงในระยะต่อไป
  • Krungthai COMPASS ยังคงประมาณการเดิมว่า ส่งออกไทยในปีนี้อาจติดลบถึง 8.6% เนื่องจากยังต้องเตรียมรับแรงปะทะระลอกใหม่โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ของปี 2020 หลังสถานการณ์ COVID19 ในประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นยังคงน่าเป็นห่วง จากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มนี้มีมากถึง 81.4% ของตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลก/1 จนต้องยกระดับมาตรการปิดเมืองและ Social Distancing ในหลายประเทศตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับผลกระทบดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับจีน ดังนั้น ไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้สูงถึง 32.4% ทำให้ภาพสะท้อนที่รุนแรงของ COVID-19 น่าจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นในไตรมาส 2 และหากยังไม่สามารถหาบทสรุปได้โดยเร็ว ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าโลกและส่งออกไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และจะกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายธุรกิจไทยจากนี้ไป อย่างไรก็ดี มาตรการ Social Distancing ที่คาดว่าจะต้องดำเนินต่อไปอีกระยะแม้จะสามารถควบคุมสถานการณ์โรคระบาดได้แล้ว จะกลายเป็นแรงหนุนสำคัญสำหรับบางธุรกิจ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

[1] อ้างอิงจาก How China is Reshaping the Global Economy (2019)