19 ภาคีเกษตร หนุน เฉลิมชัย ศรีอ่อน

0
1516

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และผู้แทน 19 ภาคีเกษตร เปิดเผยว่า เกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจ พร้อมสนับสนุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการยกเลิกแบนพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส  ตอนนี้การจับกุมและปรับเงินเกษตรกรมีผลบังคับใช้แล้ว  จึงขอให้รัฐมนตรียึดถือประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติเป็นสำคัญ ความเสียหายของเกษตรกรเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสารทางเลือกที่ราคาสูง ฆ่าหญ้าไม่ตายแต่พืชประธานตายทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง ผลผลิตเสียหาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ 

    นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการ​          กระทรวงเกษตรฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ พูดว่าจะเอาสารพิษกลับมาอีกทำไม ขอถามท่านว่า สารเคมีตัวไหนไม่เป็นสารพิษ สารชีวภัณฑ์มีการบุกตรวจจับกุมโดย ดีเอสไอ และกรมวิชาการเกษตร ก็พบว่ามีสารพาราควอต และไกลโฟเซตปนอยู่ สารกลูโฟซิเนตในสหภาพยุโรปก็แบนไปแล้ว สิ่งที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้ล้วนแต่เป็นสารพิษ เพราะฉะนั้นท่านต้องแบนกลูโฟซิเนต ไกลโฟเซต ไปด้วยเช่นกัน  และหากรัฐมนตรีช่วยฯ รวมถึงมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรต่างๆ ถ้าห่วงใยสุขภาพคนไทยจริง ก็ขอให้ช่วยฯ ไปคุยกับ คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศหยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีสารพารา ควอตและคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการตกค้างสารดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น 0.01 0.02 อะไร ก็ต้องไม่มี ไม่ควรปรับค่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ และไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ไม่เช่นนั้น จะเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน เพราะเมื่อแบนในประเทศแล้ว สินค้านำเข้าก็ไม่ควรจะมีการใช้สารทั้งสองชนิด  เช่นเดียวกับ นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติสองมาตรฐาน หากแบนในประเทศ สินค้านำเข้าก็ไม่ควรที่จะตกค้างสองสารเคมีควรแบนเช่นเดียวกัน

    ด้านนายภมร ศรีประเสริฐ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโคราช กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกร ผิดหวังกับข้าราชการกรมวิชาการเกษตรและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ที่เมินเสียงเกษตรกร เพราะเกษตรกรเดือดร้อนจึงต้องออกมาคัดค้าน เกษตรกรมองเห็นผลกระทบที่ชัดเจน ทุกพืชจำเป็นต้องใช้สารพาราควอตตลอดทั้งปี จะช่วยลดอย่างไร อย่ามาบอกว่า ของบ จัดทำงบประมาณฉุกเฉิน เพราะเป็นความคิดล้าสมัยของการเมืองแบบโบราณ เป็นการใช้ภาษีประชาชนอย่างสิ้นเปลือง เกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังไม่มีสิทธิ์ใช้สารพาราควอต แต่สาธารณสุข และกรมปศุสัตว์กำหนดให้นำเข้าวัตถุดิบที่ปนเปื้อนพาราควอตได้ 

    นอกจากนี้ ข้อมูลของสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาล ที่เก็บตัวอย่างวัตถุดิบและสินค้าที่มีการใช้พาราควอตในประเทศ ก็ตรวจไม่พบสารพาราควอตตกค้างเช่นกัน ดังนั้นคำกล่าวอ้างของรัฐมนตรีช่วยฯ และกระทรวงสาธารณสุขที่ห่วงใยสุขภาพคนไทยและผู้บริโภคจึงฟังไม่ขึ้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเพื่อเอื้อนายทุน หากกระทรวงสาธารณสุขปรับกฎระเบียบว่า สินค้านำเข้าต้องตรวจไม่พบสารพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ดังนั้นการที่วัตถุดิบและสินค้าในประเทศตรวจไม่พบสารตกค้างทั้ง 2 ชนิด เกษตรกรไทยก็ต้องมีสิทธิ์ใช้สารทั้งสองชนิดได้เช่นกัน ทั้งนี้ 19 องค์กรเกษตรกร ขอสนับสนุน และสรรเสริญท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัย ที่กล้าหาญ ส่งเรื่องถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทบทวนการยกเลิกสารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส กล้าปลดแอกเกษตรกรจากการจำคุกสูงสุด 10 ปี และปรับสูงสุด 1 ล้านบาท ขอเพียงให้ท่านลงมือทำ  เกษตรกรกว่า 10 ล้านคนทั่วแผ่นดินพร้อมสนับสนุน และเราจะจดจำท่านไปอีกนาน

    ทั้งนี้ 19 ภาคีเกษตร ประกอบด้วย        สมาพันธ์เกษตรปอลดภัย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม  สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย  ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน         สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กลุ่มเกษตรมันสำปะหลังแปลงใหญ่นครราชสีมา กลุ่มเกษตรกรมันสำปะหลังหนองบุญมาก-ครบุรี-เสิงสาง เครือข่ายเกษตรกรผลไม้จังหวัดจันทบุรี กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โคราช นครสวรรค์ และลพบุรี