เอไอเอส ผนึก กระทรวงทรัพยากรฯ ยกระดับโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” สู่วาระแห่งชาติ ชวนคนไทยทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อย่างถูกวิธี พร้อมขยายจุดรับทิ้งทั่วประเทศ

0
1227

 ในโลกยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก สิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตประจำวันพัฒนาอย่างไปรวดเร็วพร้อมเทคโนโลยี การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่ถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีมีมากขึ้นจะก่อให้เกิดสารตกค้าง ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สังคม และส่งผลเสียในระยะยาวต่อระบบนิเวศ และสุขภาพของมนุษย์

เอไอเอส ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลที่มีเป้าหมายดำเนินธุรกิจรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศให้พัฒนา และเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน จึงร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังสร้างเครือข่าย “คนไทยไร้ EWaste” ทั่วประเทศ สร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่าน 2 ความร่วมมือหลัก คือ ขยายจุดวางถังรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ณ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือ ทสจ. ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ต้องการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี และร่วมกับ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. เพื่อเป็นตัวแทนสื่อสาร สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บและทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง พร้อมยกระดับโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” สู่วาระแห่งชาติ

    นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “ที่ผ่านมา เอไอเอสให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะทุกประเภท รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นขยะอีกหนึ่งประเภทที่จะต้องมีการคัดแยกและนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน จึงได้อาสาเข้ามาเป็นศูนย์กลางและจัดทำโครงการ “คนไทยไร้ EWasteขึ้น โดยมีเป้าหมายในการปลูกจิตสำนึกคนไทยให้เข้าใจและตระหนักถึงการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมในการกำจัด โดยจัดทำถังรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ (EWaste) อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ (EWaste) ซึ่งประกอบไปด้วย โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, พาวเวอร์แบงก์, สายชาร์จ, หูฟัง มาทิ้ง ได้ ณ จุดบริการของ เอไอเอส และจุดบริการของภาคีเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันมีแล้วมากกว่า 2,300 จุดทั่วประเทศและปัจจุบันสามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้จำนวนกว่า 6.3 ตัน โดยทางเอไอเอส ได้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ (EWaste) ที่เก็บรวบรวมได้จากจุดรับทิ้ง นำส่งให้กับ บริษัท เทส จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfill แต่เอไอเอสเพียงองค์กรเดียวไม่สามารถสร้างอิมแพคให้โครงการนี้ใหญ่ได้ จำเป็นต้องมีเครือข่ายภาคีจากหน่วยงาน องค์กร และบริษัทต่างๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการ โดยล่าสุดได้รับเกียรติจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การสนับสนุนร่วมเป็นอีก 1 ภาคีเครือข่ายหลักในการยกระดับภารกิจคนไทยไร้ E-Waste สู่วาระแห่งชาติ ในการขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (EWaste) พร้อมร่วมบูรณาการส่งต่อองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึกคนไทย ผ่านการทำงานของ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. ที่มีอยู่ทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงชุมชนต่างๆได้ เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับโทษภัยของขยะอิเล็กทรอนิกส์ (EWaste) รวมถึง ให้ข้อมูลการจัดเก็บและทิ้งอย่างถูกวิธี ตลอดจนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในชุมชนอย่างยั่งยืน

    วันนี้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (EWaste) นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วทั้งโลก ตัวเลขจาก The global EWaste 2020 ของ มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ, สถาบันเพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ, สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และ สมาคมขยะมูลฝอยสากล (ISWA) รายงานเมื่อปี 2562 ว่า ทั่วโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน และมีการใช้งานต่อคนถึงคนละ 7.3 กิโลกรัม ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกได้รับการ recycle อย่าง ถูกวิธี เพียง 17.4% หรือคิดเป็น 9.3 ล้านเมตริกตันเท่านั้น

    ในขณะที่ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ของเสียอันตรายจากชุมชน โดยกรมควบคุมมลพิษ ปี 2562 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ (EWaste) อยู่ที่ 400,000 ตัน แต่มีการเก็บรวบรวมและนำไปจัดการอย่างถูกต้องเพียง 500 ตัน ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บไว้ตามบ้านเรือน ขายเป็นสินค้ามือสอง ขายให้รถเร่ ซาเล้ง นอกจากนี้ ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณเกือบ 900 ตัน และในปี 2560 พบปริมาณนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีมากกว่า 50,000 ตัน ทั้งยังมีการตรวจพบโรงงานและสถานประกอบกิจการถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดำเนินการอย่างไม่ถูกหลักวิชาการ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญและบริหารจัดการร่วมกันอย่างถูกวิธีก่อนจะสายเกินไป”

    นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะมาตรการ แนวทาง และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคีเครือข่าย

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า
TBCSD เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของบริษัทต่างๆ มีนโยบายในการช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถเป็นธุรกิจต้นแบบที่สามารถผลักดันให้เกิดการขยายผลเพื่อมีส่วนทำให้เศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและประเทศไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกกว่า 40 บริษัท เอไอเอสคือหนึ่งบริษัทที่เป็นสมาชิก TBCSD การร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างเครือข่ายคนไทยไร้ E-Waste ทั่วประเทศ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ ในฐานะพันธมิตร เรายินดีช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ด้วยการช่วยรณรงค์สร้างจิตสำนึกและสร้างความตระหนัก รวมถึงเชิญชวนให้ทุกคนนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งในจุดที่จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อจัดเก็บและนำไปทำลายอย่างถูกวิธี

นายสมศักดิ์ สันธินาค ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน(ทสม.) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ภารกิจทั่วไปของ ทสม.ทั้ง 76 จังหวัด คือการทำงานตามภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องน้ำ เรื่องป่าชุมชน เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องขยะ รวมถึงมลพิษต่างๆ ทสม.มีหน้าที่เข้าไปช่วยให้คำแนะนำ ให้ความคิดเห็นชาวบ้าน ในกรณีที่ต้องการจะทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ให้ทิ้งถูกที่ กรณีที่ไม่ใช้แล้วหรือถ้าจะแยกขยะก็จะมีอาสาสมัครรวบรวมไว้ก่อนนำไปมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกำจัดต่อ ในฐานะ ทสม.รู้สึกว่าโครงการ คนไทยไร้ E-Waste เป็นโครงการที่ดีที่ทางภาคเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ เราคิดมาตลอดว่าถ้าสิ่งแวดล้อมดี  คุณภาพชีวิตดี ชุมชนก็ดีขึ้น

ดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการคนไทยไร้ E-Waste เพิ่มเติมได้ที่ www.ewastethailand.com