เลขาธิการ คปภ. มอบรางวัล APFinSA Awards ครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 • แนะตัวแทนประกันชีวิต ต้องพัฒนาศักยภาพการทำงาน ในสถานการณ์ “COVID Disruption” แข่งขันด้านการบริการ ตลอดจนต้องปฏิบัติตามมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อให้อุตสาหกรรมประกันชีวิต เติบโตได้อย่างยั่งยืน และประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย

0
1432

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้รับเชิญกล่าวแสดงความยินดี พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้แก่ตัวแทนประกันชีวิตจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในงาน APFinSA Awards ครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 จัดโดยสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก และสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน โดยมีนายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ณ     ภิรัช ฮอลล์ 3 ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีและชื่นชมตัวแทนประกันชีวิตของประเทศไทยที่สามารถพิชิตรางวัลคุณวุฒิมากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเป็นรองแค่ไต้หวัน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงการทำประกันภัยสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ตัวแทนประกันชีวิต ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของอุตสาหกรรมประกันชีวิต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากยุคโลกาภิวัฒน์ ที่เป็นเรื่องของ “Digital Disruption” เข้าสู่ยุคโควิดภิวัฒน์ ในสถานการณ์ “COVID Disruption” พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้เทคโนโลยีมา​  สนับ​สนุนการทำงานและทำธุรกรรมออนไลน์กันมากขึ้น ดังนั้น ตัวแทนประกันชีวิต จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง และต้องแข่งขันด้านการให้บริการ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความพึงพอใจสูงสุด ไม่ใช่แข่งขันกันด้านราคา หรือมุ่งแต่เพียงทำยอดขายประกันให้สูงแต่​       อย่างเดียว

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564-2568) โดยนำบริบทต่างๆ เข้ามาปรับเพื่อให้การกำกับดูแลการประกันภัย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงได้มีการออกประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และธนาคาร พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดยหลักเกณฑ์ของประกาศฉบับดังกล่าว จะทำให้มีการกำกับดูแลคนกลางประกันภัยได้โดยตรง เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และช่วยให้เกิดความคล่องตัวของช่องทางการขายในการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะการเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Face to Face ที่มีการอนุญาตให้ใช้เป็นการเฉพาะกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 และเมื่อได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งภาคธุรกิจประกันภัยและประชาชนผู้ใช้บริการ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอขายผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ แบบ Digital Face to Face ไว้เป็นการถาวร

“การเป็นตัวแทนประกันชีวิตที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพในการทำงาน ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการเสนอขาย เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอีกด้วย เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย ซึ่งจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมประกันชีวิตเติบโตได้อย่างยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวใน​      ตอนท้าย