อาการมือเท้าสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ สัญญาณอันตรายใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อชีวิตคุณ

0
1217

นอกเหนือจากโรคอัลไซเมอร์ ที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของสมองแล้ว ยังมีโรคที่ส่งผลให้ร่างกายมีอาการสั่นเกร็งตามส่วนต่าง ๆ มีผลต่อการเคลื่อนไหว และอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และหน้าที่การงานของคุณได้อย่างคาดไม่ถึง นั่นคือ โรคพาร์กินสัน (Parkinson) และ โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor)

โรคพาร์กินสัน เกิดจากการที่เซลล์สมองในส่วนของก้านสมองส่วนกลาง (Midbrain) มีหน้าที่สร้างสารเคมีที่ชื่อว่า โดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเริ่มทำงานเสื่อมสภาพลงจนไม่สามารถผลิตสารนี้ได้อีกต่อไป จึงมีผลให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ พบว่ามีปัจจัยบางอย่างเกี่ยวข้องกับการเสื่อมของสมอง เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีบางชนิดโรคนี้มักจะพบในผู้สูงอายุ ในช่วงอายุ 65-80 ปี ขึ้นไป และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงถึง 1.5 เท่า โดยปกติแล้วโรคนี้จะมีอาการที่แสดงออกมามาก หรือน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แต่ที่เป็นเหมือนกันคือ โรคนี้จะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนโรคทางสมองอื่น ๆ และอาการจะเพิ่มมากขึ้น หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน โดยอาการที่แสดงออก มีหลายอาการ เช่น อาการสั่นเกร็ง (Tremor) มักจะมีอาการที่นิ้วมือ แขน ขา โดยจะเกิดอาการสั่นเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหว และไม่สามารถควบคุมได้ หากเริ่มทำกิจกรรมอาการสั่นจะลดลง หรือหายไป และอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) ใช้เวลานานในการเคลื่อนไหว หรือช้ากว่าปกติ ทำให้เกิดความยากลำบากในชีวิตประจำวัน ท่าเดินผิดปกติ (Posture instability) ผู้ป่วยจะมีอาการก้าวเดินสั้น ๆ ในช่วงแรก และจะก้าวยาวขึ้น จนเร็วมาก และไม่สามารถหยุดได้ทันที นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหลังค่อม แขนไม่แกว่ง หรือเดินแข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์ การแสดงสีหน้าเหมือนใส่หน้ากาก (Masking face) ผู้ป่วยจะมีใบหน้าเฉยเมย เวลาพูดมุมปากจะยกขึ้นเพียงเล็กน้อย ทำให้ดูเหมือนไม่มีอารมณ์ร่วม และ พูดเสียงเบา ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการพูดไม่ชัด หรือเสียงอาจหายไปในลำคอ บางรายอาจมีอาการพูดรัว เร็ว ระดับเสียงในการพูดอยู่ในระดับเดียวกันตลอด และอาจมีน้ำลายสอออกมาคลออยู่ที่มุมปากโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor หรือ ET) เป็นอาการทางระบบประสาทที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการสั่นของอวัยวะได้ เช่น มีอาการมือสั่นในขณะที่เคลื่อนไหวหรือยกมือขึ้น แตกต่างกับโรคพาร์กินสัน ที่จะเกิดอาการสั่นเมื่ออยู่นิ่ง ๆ ซึ่งโรค ET พบได้ทั่วไปในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ก็มีผู้ป่วยที่ตรวจพบอาการดังกล่าวตั้งแต่อายุยังน้อยคือช่วงอายุ 20 ปี และกลุ่มวัยหนุ่มสาว โดยมักเกิดกับคนที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน ในระยะแรกอาการจะไม่รุนแรงแต่จากนั้นจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ในผู้ป่วยบางรายนั้นอาการสั่นจะมีความรุนแรงถึงขั้นที่ทนไม่ได้ เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังจำกัดความเป็นอิสระในการใช้ชีวิตเมื่ออาการของโรคมีพัฒนาการขึ้น ท้ายที่สุดแล้วผู้ป่วยบางรายจะไม่สามารถหยิบจับช้อนส้อมทานอาหาร แต่งตัว ยกแก้วน้ำขึ้นดื่มเอง หรือ เขียนหนังสือได้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย จนอาจไม่กล้าออกนอกบ้าน เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยได้เช่นกัน

การรักษาโรคพาร์กินสัน โดยทั่วไปมี 3 วิธี คือ การรักษาด้วยยา กายภาพบำบัด และการผ่าตัด การรับประทานยา เพื่อเพิ่มปริมาณสารเคมีโดปามีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยแพทย์จะพิจารณาการให้ยาตามอาการของผู้ป่วย การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่ง และการทรงตัว ผู้ป่วยจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น และ การผ่าตัด มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่มาก หรือผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากการรับประทานยา การผ่าตัดจะใช้วิธีฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง เรียกว่า การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) ซึ่งการผ่าตัดก็อาจตามมาด้วยความเสี่ยง และมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ซึ่งการรักษาทุกรูปแบบ ต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ผู้ทำการรักษา

นอกเหนือจากการรักษาข้างต้นแล้ว ปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีการรักษา อาการสั่นบางชนิดของโรคพาร์กินสัน (Tremor Dominant Parkinson’s Disease) และ โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) ด้วยเครื่อง Exablate Neuro โดยใช้เทคนิคการยิงรวมศูนย์คลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพ MRI (MRgFUS; MRI Guided Focus Ultrasound) ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดแบบไม่มีบาดแผล และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือในผู้ป่วยที่ไม่ประสงค์จะเข้ารับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไว้ภายในร่างกาย

Exablate Neuro ช่วยให้แพทย์สามารถกำหนดเป้าหมาย และรักษาสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการสั่นได้อย่างแม่นยำ หลังการรักษาอาการสั่นจะหาย หรือลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติภายใน 1 วัน นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่ช่วยลดจำนวนการเดินทางไปโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงจากความแออัดของผู้ป่วย และผู้ติดตามในช่วงสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 รวมถึงจากโรคติดต่ออื่น ๆ ได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มากกว่า 5,000 รายแล้ว ตามโรงพยาบาลชั้นนำทั่วโลกที่มีชื่อเสียงด้านการรักษาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ กว่า 50 แห่ง ในยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา เช่น มาโย​     คลินิก (Mayo Clinic) โรงพยาบาลมหา​   วิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University Hospital) บริกแฮมแอนด์วีเมนส์ (ฮาร์วาร์ด) (Brigham and Women’s (Harvard)) และ ดิ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (The Imperial College London)
สำหรับประเทศไทย นับเป็นศูนย์การรักษาแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี Exablate Neuro System โดยปัจจุบันมี 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช และ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลศิริราช โทร 02 414 0135 คุณสุรีรัตน์ จันทร์พาณิชย์ ห้องตรวจ MRI อาคารนวมินทรบพิตร ชั้น 4 ในวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลา 8.00-16.00 น. หรือ ศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทรศัพท์ 02 576 6000