อว.สนับสนุนทุนให้เปล่าผ่าน TED Fund ส่ง‘นักรบเศรษฐกิจ’ลงพัฒนาพื้นที่ชนบท

0
1836

กระทรวง อว. สนับสนุนทุนให้เปล่า หวังปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่สร้างธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อใช้ในการพัฒนาชนบท ผ่านโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น ภายใต้การพิจารณาแบบ Social Distancing

       นายนิคม ปัญญาทวีกิจไพศาล ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายให้ TED Fund  ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช. หรือ NIA) จัดตั้งกองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) หรือ โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการยุวชนสร้างชาติ เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้แก่ทีมยุวสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นนิสิต และนักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และ/หรือ เป็นบัณฑิตที่จบใหม่ไม่เกิน 5 ปี รวมทั้งสิ้น 2 โปรแกรม คือ  1. โปรแกรมการพัฒนาแนวคิดเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรม (Ideation Incentive Program)  มูลค่า 100,000 บาท และ  2. โปรแกรมการเริ่มต้นสร้างธุรกิจนวัตกรรม (Pre-seed Program) มูลค่าตั้งแต่ 500,000 – 1,500,000 บาท นั้น

ขณะนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้ง 2 โปรแกรมมากกว่า 250 โครงการ และอยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรองในรูปแบบ Social Distancing ซึ่งคาดว่า การคัดเลือกในรอบแรกที่ตั้งเป้าสนับสนุนเงินทุนไว้ไม่น้อยกว่า 100 ราย และการพิจารณาจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 จากนั้น จะมีการพิจารณาคัดเลือกในรอบต่อไปทันที

“กองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) หรือ โครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) เป็น 1 ในโครงการยุวชนสร้างชาติ ประกอบไปด้วย 3 โครงการหลัก คือ  1. โครงการบัณฑิตอาสา   2. โครงการยุวชนอาสา และ   3. โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น  หรือ กองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นนิสิตนักศึกษาร่วมกับบุคลากรมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนให้เดินไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ Startup รวมทั้งยังมุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ และเป็นโครงการสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 อีกด้วย”

นายนิคม กล่าวต่อไปว่า โครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) จะใช้เวลา 3 – 5 ปี สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดลองจัดตั้งสตาร์ทอัพ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมสร้างสรรค์ ด้วยพลังเยาวชนไทย ซึ่งจะเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมปฏิรูประบบการเรียนรู้สำหรับสร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้นำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี  ไปพัฒนาพื้นที่ชนบทต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับสนับสนุน-ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยเยาวชนในมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ จะถูกกำหนดให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ ที่จะนำประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีของโลก บนเส้นทางของการเป็นสตาร์ทอัพ (Startup)