ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม 2565

0
1422

    ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนและมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล รวมถึงมาตรการควบคุมการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้ในเดือนมีนาคม 2565 ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ น้ำตาลทรายดิบ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพาราดิบชั้น 3 และสุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อมีแนวโน้มราคาปรับลดลง

           นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคา 11,503 – 11,850 บาท/ตัน  เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 – 3.54 เนื่องจากภาครัฐดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 เพื่อชะลอการขายข้าวที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวเพิ่มขึ้น  น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคา 18.65 – 18.80 เซนต์/ปอนด์ (13.32-13.45 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.65 – 1.45 เนื่องจากสถานการณ์ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน กระทบต่ออุปทานน้ำมันเชื้อเพลิงของโลก ประกอบกับ ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหลังจากกิจกรรมการผลิตทั่วโลกฟื้นตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ความต้องการใช้เอทานอลเพื่อเป็นพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลมีการเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าอ้อยไปผลิตเอทานอล ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายปรับสูงขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา 8.99 – 9.02 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.11 – 0.45 เนื่องจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน  กระทบต่อการส่งออกข้าวสาลี เพราะยูเครนเป็นแหล่งผลิตข้าวสาลีส่งออกที่มีศักยภาพสูงของโลก  ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีนำเข้าสูงกว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการผลิตอาหารสัตว์ทดแทนข้าวสาลี

มันสำปะหลัง ราคา 2.33 – 2.37 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.88 – 2.63 เนื่องจากความต้องการใช้มันสำปะหลังของประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายด้านพลังงานที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด ส่งผลให้มีความต้องการใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมเอทานอลเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก  ปาล์มน้ำมัน  ราคา 8.58 – 9.02 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.12 – 8.41 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเกินกว่ากำลังการผลิต ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลต่ออุปทานน้ำมันของโลก  ทำให้หันมาใช้พืชพลังงานอย่างปาล์มน้ำมันทดแทน  จึงทำให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น  ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 56.27-57.45 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.18-2.28 เนื่องจากผลผลิตยางพาราในตลาดลดลงจากการเข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีดยางพาราในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันออก ประกอบกับประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ประสบปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ และสุกร ราคา 95.91 – 96.89 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.13 – 1.15 เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตสุกรเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 14 จากราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และต้นทุนด้านการรักษาและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever: ASF) ที่สูง ส่งผลทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวเพิ่มขึ้น 

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคา 7,916 – 7,969 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.19 – 0.85 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังกำลังออกสู่ตลาดมากขึ้น  ประกอบกับข้าวของเวียดนามออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงกลางเดือนมีนาคม 2565 เช่นกัน  ข้าวเปลือกเหนียว  ราคา 9,074-9,343 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.51-3.49 เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น  กุ้งขาวแวนนาไม ราคา 176.11 – 176.92 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.71 – 2.16 เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งลดลง เช่นเดียวกับ โคเนื้อ ราคา 99.13 – 99.25 บาท/กก. ปรับลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.05 – 0.17  เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคในประเทศปรับตัวลดลง