ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2564

0
1304

  ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อเตรียมเปิดประเทศ ความต้องการภายในประเทศและตลาดโลก รวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และ โคเนื้อ มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ และน้ำตาลทรายดิบ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2564  โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่  ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,237 – 10,462 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.02 – 7.32 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันจากปัญหาการขนส่งข้าวหอมมะลิและค่าระวางที่สูงขึ้นอย่างมากในการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา  มันสำปะหลัง ราคา   อยู่ที่ 2.17 – 2.22 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.85 – 7.25 เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิต มันสำปะหลังปีการผลิต 2564/65 ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มาก ขณะที่ความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตมันเส้นส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความต้องการนำเข้าเพื่อไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ แอลกอฮอล์ เอทานอล และปศุสัตว์   ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 7.62 – 7.72 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.24 – 2.30 เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะการค้าน้ำมันปาล์มภายในประเทศอาจชะลอตัวลงบางส่วนโดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากนโยบายรัฐที่ปรับลดการใช้น้ำมันดีเซลจาก B7 และ B10 เป็น B6 ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2564 ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก  สุกร ราคาอยู่ที่ 67.67 – 68.14 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.09 – 2.53 เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลาย  มาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ทำให้ร้านอาหาร โรงเรียน และสถานประกอบการอื่นๆ กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่งและโครงการไทยเที่ยวไทย เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น

กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 128.27 – 129.78 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.80 – 3.00 เนื่องจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น ประกอบกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามแรงกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ขณะที่ปริมาณผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในช่วงกำลังจะจับกุ้งออกจำหน่าย ส่งผลให้ปริมาณกุ้งขาวแวนนาไมลดลง  โคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 95.40 – 95.62 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.11 – 0.34 จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้นและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เฟส 1 รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงปลายปีที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณเนื้อโคที่ออกสู่ตลาดลดลงจากการที่มีโคเนื้อบางส่วนยังติดเชื้อโรคลัมปี-สกิน

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,485 – 7,503 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.82-1.06 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเจ้านาปีออกสู่ตลาดจำนวนมาก ประมาณร้อยละ 60 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งปี 2564 ประกอบกับประเทศเวียดนามเริ่มกลับมาส่งออกอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้มีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโควิดอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ของไทยลดลง กระทบต่อความต้องการข้าวไทยในตลาดโลกลดลงตามไปด้วย  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 7,564 – 7,695 บาท/ตัน ลดลงจาก  เดือนก่อนร้อยละ 1.09 – 2.81 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวนาปีออกสู่ตลาดจำนวนมากประกอบกับสต็อกข้าวเหนียวของโรงสียังคงมีอยู่จำนวนมาก  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.29 – 8.38 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 – 1.50 เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดสูงที่สุดในปีการผลิต 2564/65 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 1.31 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 27.34 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเดือนนี้คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจากสัญญานำเข้าข้าวโพดและข้าวสาลีที่ส่งมอบในเดือนธันวาคม 2564 ที่ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.47 และร้อยละ 0.03 อาจกระตุ้นให้ผู้ประกอบการวางแผนนำเข้าวัตถุดิบข้าวโพดและข้าวสาลีจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์  

ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 46.57 – 49.22 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.10 – 4.80 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่ปริมาณผลผลิตยางพาราของประเทศไทยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.51 ของปริมาณผลผลิตทั้งปี 2564 รวมทั้งยังคงมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งยางพารา และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ และทำให้ความต้องการใช้ยางเพื่อผลิตล้อยางรถยนต์ลดลง  น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 18.61 – 18.76 เซนต์/ปอนด์ (13.69 – 13.80 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.60 – 1.40 จากสัญญาณการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในบราซิล ประกอบกับประเทศจีนชะลอการนำเข้าน้ำตาลทราย โดยคาดว่าจะนำเข้าลดลงในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ เป็นผลจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่สูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งทางเรือที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าของประเทศผู้ซื้อเพิ่มขึ้นมาก.