ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2564

0
1148

   ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ความต้องการของตลาดโลก และสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และ​ โคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายน 2564    โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 10,637 -10,680 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.92 – 1.33 เนื่องจากความต้องการบริโภคข้าวเหนียวเพิ่มขึ้น ในเทศกาลวันไหว้บ๊ะจ่างของชาวจีน     ประกอบกับสต็อกข้าวเหนียวของผู้​ประกอบการเริ่มลดลง น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 17.14 – 17.24 เซนต์/ปอนด์ (11.89 – 11.96 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.60 – 1.20 เนื่องจากคาดว่าปริมาณการผลิตและการส่งออกเอทานอลของประเทศบราซิลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบว่ายอดการส่งออกเอทานอลในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.2 จากปีก่อน ทำให้โรงงานน้ำตาลของบราซิลปรับเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล ขณะที่ความต้องการใช้น้ำตาลของโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจีนได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์การนำเข้าน้ำตาลอีก 0.6 ล้านตันเป็น 4.5 ล้านตัน จากการที่ผลผลิตน้ำตาลภายในประเทศลดลง  ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 58.08 – 58.80 บาท/กก.  เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.82 – 2.07 เนื่องจากปริมาณยางพาราที่ออกสู่ตลาดมีแนวโน้มลดลงกว่าที่คาดการณ์ จากการขาดแคลนแรงงานกรีดยางและภูมิอากาศฝนตกชุก ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการเข้าถึงและการกระจายวัคซีน ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลเยนของประเทศญี่ปุ่น และเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 5.16 – 5.22 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 4.09 – 5.33 เนื่องจากผลผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มอันดับ 2 ของโลกปรับตัวลดลง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,642 – 8,706 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.24 – 1.96 เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวและสต็อกข้าวของอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณข้าวส่วนเกินระบายออกสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก  ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 11,235 – 11,381  บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.51 – 2.77 เนื่องจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้เกิดปัญหาการส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดยุโรป ประกอบกับความต้องการใช้ของผู้ประกอบการ อาทิ ร้านอาหารและภัตตาคาร ลดลงจากนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.59 – 7.63 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.20 – 0.80 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูการ  เก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 ปริมาณผลผลิตทยอยออกสู่ตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการได้มีการนำเข้าวัตถุดิบอื่นเพื่อผลิตอาหารสัตว์ในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศทรงตัว  มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.89 – 1.93 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.52 – 2.58 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ลานมันสำปะหลังเส้นปิดการรับซื้อ และผลผลิตที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้อาจมีคุณภาพลดลงจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น  สุกร ราคาอยู่ที่ 75.08 -76.28 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.44 – 2.01 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง และมาตรการเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง  กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 137.20 – 138.32 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.20 – 2.00 เนื่องจากมีปัจจัยกดดันราคาจากมาตรการควบคุมร้านอาหารเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คาดว่าจะยังคงเข้มงวดในพื้นที่เสี่ยงสูง และความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัย ประกอบกับสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศที่ซบเซา ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศลดลง และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 98.24– 98.31  บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.01 – 0.08 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ความต้องการบริโภคเนื้อโคลดลง ตามแนวโน้มเนื้อสัตว์ประเภทอื่น จากอาหารตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ผลผลิตเนื้อโคอาจลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัม   ปีสกินในโคและกระบือ