วช. ลงพื้นที่จังหวัดพะเยา ดันงานวิจัย “แผ่นไอซิ่งที่ใหญ่ที่สุดใน Southeast Asia”

0
477

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัยฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำ ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตแผ่นไอซิ่งต้นแบบเชิงพาณิชย์ ซึ่งมี รศ.วรนุช ศรีเจษฎารักข์ อาจารย์ประจำสาขา ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ฯ

ในการนี้ รศ.ดร.ณัฐพงศ์ ดำรงวิริยะนุภาพ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วย ผศ.ดร.สุทธินันท์ ศรีรัตยาวงศ์ ผศ.ดร.วิชญ์พล ฟักแก้ว และ ดร.รัชนีวรรณ อังกุรบุตร์ ทีมนักวิจัยจากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ให้การต้อนรับ ทีมนักวิจัยได้ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน นายพันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด ในการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบสำหรับผลิตแผ่นไอซิ่งเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบภายในประเทศตลอดจนช่วยลดการนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาบุคลากร ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งโครงการ “โครงการพัฒนาผลิตแผ่นไอซิ่งต้นแบบเชิงพาณิชย์” ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพื้นที่ร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรม ผลงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจาก วช.

เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ (SMEs) ทั้งในด้านการแก้ปัญหา โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการตลาดและการส่งออกของแผ่นไอซิ่งที่จะสามารถลดต้นทุนในการนำเข้าของผู้ประกอบการได้มากกว่า 50% เพิ่มความเชื่อมั่นว่าในสินค้าตัวที่มีศักยภาพในด้านการแข่งขันและการทางธุรกิจของ (SMEs) ด้วยงานวิจัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าต่าง ๆโดยใช้กลไกความร่วมมือทางวิชาการของทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายนักวิจัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยรวมทั้งมีการต่อยอด ขยายผลกับชุมชนและหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในมิติของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการพัฒนากำลังคนคุณภาพอย่างยั่งยืนต่อไป

ผศ.ดร.วิชญ์พล ฟักแก้ว ตัวแทนทีมวิจัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาผลิตแผ่นไอซิ่งต้นแบบเชิงพาณิชย์ ได้ทำการพัฒนาเครื่องจักรผลิตไอซิ่งชีทแบบต่อเนื่อง ที่มีความเหมาะสมในการผลิตแผ่นไอซิ่งชีทในระดับอุตสาหกรรม และยังได้พัฒนาสูตรไอซิ่งชีทจากวัตถุดิบธรรมชาติในประเทศ เพื่อพัฒนาเป็นแผ่นพิมพ์ภาพสำหรับติดบนหน้าเค้กและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่าง ๆ สามารถการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเวลามากกว่า 6 เดือน โดยที่ค่า water activity ต่ำกว่า 0.6 และมีค่าจุลินทรีย์อยู่ภายใต้มาตรฐานตลอดระยะเวลาเก็บ 6 เดือน ผลิตภัณฑ์แผ่นไอซิ่งที่ได้จากเครื่องต้นแบบมีความเรียบเนียน ไม่มีฟองอากาศขนาดใหญ่ ไม่มีเม็ดตาปลา สามารถลอกออกจากแผ่นพลาสติกได้ง่าย ภาพที่ได้จากการพิมพ์มีความคมชัด สวยงาม เทียบเคียงได้กับคุณภาพของสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เครื่องจักรผลิตไอซิ่งชีทที่พัฒนาขึ้นมีกำลังการผลิต 1,028 แผ่น/วัน ประสิทธิภาพเชิงพลังงานความร้อนในกระบวนการระบบอบแห้งที่พัฒนาขึ้นดีกว่าแบบเดิม ทำให้ประหยัดพลังงานที่ใช้ในการอบแห้ง ส่งผลให้ทุนด้านพลังงานของการผลิตลดลงได้ถึง 48% ความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบสามารถเพิ่มยอดการผลิตสินค้าได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจและสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้

นายพันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด กล่าวว่า บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายแผ่นไอซิ่งในประเทศไทย โดยแผ่นไอซิ่งที่ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศไทย ถือว่าเป็น complementary goods (สินค้าประกอบกัน) กับสินค้าหลัก “Edible Ink” หรือหมึกกินได้ จากแนวโน้มของการนำเข้าแผ่นไอซิ่งจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นและปริมาณสีผสมอาหารทานได้ที่ประกอบการผลิตเพิ่มขึ้น

ซึ่งโครงการพัฒนาผลิตแผ่นไอซิ่งต้นแบบเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนาเครื่องจักรเพื่อผลิตไอซิ่งชี้ทแบบต่อเนื่อง จากงานวิจัยและนวัตกรรมมีส่วนช่วยในการพัฒนากระบวนการผลิตแผ่นไอซิ่งที่มีคุณภาพเทียบเท่า ที่ได้คุณภาพดีกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาต้นทุนต่ำกว่าเดิม ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรไม่ต่ำกว่าปีละ 12 ล้านบาท ในกรณีที่ product line สามารถผลิตได้ใน full capacity และเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตแผ่นไอซิ่งที่ใหญ่ที่สุดและได้รับมาตรฐานที่ดีที่สุดใน Southeast Asia ทั้งนี้หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจสามารถสอบถาม ความรู้ ประสบการณ์ และคำแนะนำต่าง ๆ พร้อมด้วย สินค้า ชุดประกอบธุรกิจ อุปกรณ์และวัสดุต่าง ๆ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ของเรา มีตั้งแต่เครื่องปริ้นเตอร์ เครื่องปริ้นบัตร เครื่องสกรีนเสื้อ เครื่องพิมพ์สีผสมอาหาร  เครื่องปริ้นระบบเลเซอร์ และน้ำหมึกเพื่อการพิมพ์ทุกชนิดได้ที่ สำนักงานใหญ่ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด ถนนวิภาวดี ซอย 56 กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร วช. และผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตแผ่นไอซิ่ง ที่ใช้สำหรับพิมพ์เค้กรูปภาพ ใช้คู่กับเครื่องปริ้นเค้ก จากเครื่องผลิตไอซิ่งชีทที่ออกแบบโดยทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ณ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด จังหวัดพะเยา