วช. – ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยกระดับงานวิจัย เปิดอบรมหลักสูตรการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

0
1040

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เปิดโครงการ “การพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” และเปิดอบรมหลักสูตร “การวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกจากทั้งหมด 6 หลักสูตร เป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจนักวิจัยและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับกรอบ นโยบาย แผนและทิศทางการวิจัยและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศ กระแสสิ่งแวดล้อมโลกสู่ความยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยเชิงบูรณาลักษณะสหวิชาการในเชิงประเด็น หรือ พื้นที่ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานฯ พร้อมด้วย ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ BCG และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนให้งานวิจัยไทยได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ซึ่งภายใต้กรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการวิจัยและนวัตกรรมเชิงรุก ด้วยการประชุมระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำสู่การกำหนดแผนงานวิจัยตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ตามความต้องการใช้กลไกความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง วช. กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จ จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยรวมทั้งมีการต่อยอด ขยายผลกับหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบถึงแนวทางการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรม
ด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนําผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ผ่านมานักวิชาการและนักวิจัยได้ให้ความสนใจต่อการวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเด็นต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังต้องการความชัดเจนของวิธีการดำเนินการวิจัยที่จะนำไปสู่ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบที่ตั้งเป้าหมายไว้ รวมถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่แล้วเสร็จ บางส่วนยังต้องการเชื่อมโยงสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทั้งมิติทางด้านนโยบาย วิชาการ สังคม ชุมชน และเชิงพาณิชย์ รวมทั้งความต้องการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วช. เล็งเห็นความสำคัญที่เกิดขึ้น จึงร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งมีภารกิจหลักในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่สาธารณชน ดำเนินการจัดทำโครงการ “การพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่ออบรมนักวิจัยมีความเข้าใจทิศทางการดำเนินงาน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่เชื่อมโยงกับทิศทางของประชาคมโลก รวมถึงความเข้าใจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและการวิจัยว่าจะมุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาในประเด็นสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ หรือในลักษณะพื้นที่ นอกจากนั้นหลักสูตรการอบรมยังมุ่งหวังให้นักวิจัยเข้าใจการวิจัยเชิงบูรณาการและสามารถต่อยอดงานวิจัยใหม่ ๆ จากผลงานวิจัยเดิมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำความรู้ความเข้าใจ และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องต่อความต้องการของแหล่งทุนและสนับสนุนทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ทิศทางการวิจัยสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 สู่การใช้ประโยชน์ ยังคงน้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มากำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเป็นหลักนำทางในการขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงกับเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นโดยใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศในทุกมิติ ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลในระยะยาว โดยยึดหลักตามแผนแบ่งออกเป็น 3 แผน ดังนี้ แผนที่ 1) แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนที่ 2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนที่ 3) แผนปฏิบัติการของกระทรวงของกรมในการวางแผนงานวิจัยในการเสนอโครงการในงานวิจัยให้สอดคล้องและตรงตามกรอบของงานวิจัย การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการ โดยที่นักวิจัยสามารถตั้งโจทย์และเขียนโครงการวิจัยได้ตรงตามกรอบของของงานวิจัย การเขียนข้อเสนอโครงการสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาโครงการวิจัยให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับเป้าหมายตัวชี้วัดของแหล่งทุน ของหน่วยงานและของประเทศมากขึ้น โดยยึดหลักนักวิจัยที่ดี 3 ข้อ คือ 1) คิดให้เป็น 2) พิสูจน์ให้ได้ 3) ใช้ให้เป็น ก่อให้เกิดการสร้างนักวิจัยการวิจัยเชิงบูรณาการโครงการวิจัยที่ตอบโจทย์ต่อสังคมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศที่ใช้ประโยชน์ได้จริง

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ BCG และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ BCG New Economy Model โมเดลเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยที่งานวิจัยนั้นตอบโจทย์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

ทั้งนี้การอบรมในวันนี้เป็น หลักสูตร “การวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สามารถตอบโจทย์ของหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2565 ผ่านระบบออนไลน์ zoom meeting