รับมือฮีทสโตรก(Heatstroke) เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงอย่างเฉียบพลัน

0
1882

โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heatstroke) เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไปซึ่งมักเกิดจากการทำงาน ใช้แรงงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนักในภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง มักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า และมักจะเกิดในช่วงฤดูร้อนหรือบริเวณที่มีความชื้นในอากาศสูง อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่นสมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ บางรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้

พญ.ดวงพร รุธิรโก อายุรแพทย์ และแพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤตระบบประสาท รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า โรคลมแดด หรือ ภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (Heatstroke) แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ตามสาเหตุที่ทำให้เกิด ได้แก่ 1.Classic heatstroke or Non-exertional heatstroke เกิดจากการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงแล้วทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงตาม มักพบในคนที่อยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนและชื้นเป็นเวลานาน 2.Exertional heatstroke ในกรณีนี้อุณหภูมิร่างกายมักสูงขึ้นจากการทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนักในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงเกิดได้ง่ายขึ้นในคนที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีโอกาสเกิดภาวะฮีทสโตรกได้ง่ายขึ้น เช่น อายุที่น้อยหรือมากเกินไป มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย การใช้ยาบางกลุ่มที่ทำให้สูญเสียสารน้ำ หรือร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้กลไกการควบคุมอุณหภูมิร่างกายผิดปกติทำให้เกิดฮีทสโตรกได้เช่นกัน หรือการที่ร่างกายต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น ในกรณีที่เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศที่อากาศร้อนหรือในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน(heat wave)ร่างกายปรับตัวไม่ทันก็ทำให้เกิดฮีทสโตรกได้ง่าย

อาการของผู้ป่วยที่เป็นฮีทสโตรกจะมีอุณหภูมิกาย 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า ร่วมกับภาวะความรู้สติเปลี่ยนแปลงอาจเกิดอาการสับสน กระวนกระวาย เพ้อ ชักหรือหมดสติได้ หัวใจเต้นเร็ว อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังแดงแพทย์จะวินิจฉัยโรคจากการทราบประวัติว่าผู้ป่วยมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะนี้ การตรวจร่างกายพบว่ามีอุณหภูมิกายสูงร่วมกับอาการแสดงในระบบต่างๆ บางกรณีอาจวินิจฉัยร่วมกับผลตรวจเลือดและเอกซเรย์เพื่อค้นหาภาวะแทรกซ้อนของฮีทสโตรกร่วมด้วย ในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคและความผิดปกติทางระบบประสาทอยู่เดิม เมื่อต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงเป็นเวลานาน หรือมีภาวะที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากอาจทำให้อาการทางระบบประสาทที่เคยมีกลับเป็นซ้ำได้ เช่น ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมอง multiple sclerosis หรือโรคลมชัก ซึ่งกลไกที่กระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้นจะแตกต่างกันในแต่ละโรค

ด้าน นพ.ภวิศ เหลืองเวชการ แพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤตระบบประสาท รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล  กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดมีความแตกต่างจากสโตรก (stroke) คือ ภาวะฉุกเฉินของระบบประสาทที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ/อุดตัน หรือแตก ซึ่งมักจะทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา พูดลำบาก ปากเบี้ยว หรือการทรงตัวผิดปกติเฉียบพลันต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน แต่จะมีแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาที่แตกต่างไปจากฮีทสโตรก ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่างโดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ โดยหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น โรคทางสมองมีโอกาสทำให้เกิดอาการชัก สมองบวม อาจเกิดการเสียหายถาวรของเซลล์สมอง อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis) ส่งผลกระทบถึงภาวะไตวายเฉียบพลันได้ การสูญเสียสารน้ำทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงตับลดลงอาจทำให้เกิดภาวะตับวายมีการทำงานที่หนักขึ้นของหัวใจอาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดภาวะหัวใจวายได้ อาจทำให้เกิดภาวะวิกฤติทางระบบการหายใจ (Acute respiratory distress syndrome)อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หรือเกิดลิ่มเลือดในร่างกาย

แพทย์แนะวิธีรับมือเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการลดอุณหภูมิร่างกาย 1.พาผู้ป่วยเข้ามาพักในที่ร่ม หรือในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศและมีอุณหภูมิที่เย็นลง 2.ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นจนเกินไปออกเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัว 3.อาจเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หรือใช้ถุงน้ำแข็งวางบริเวณศีรษะ ลำคอ รักแร้และขาหนีบ หรืออาจใช้สเปรย์น้ำเย็นพ่น 4.ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เนื่องจากเครื่องดื่มประเภทนี้จะทำให้ความสามารถในการปรับอุณหภูมิของร่างกายสูญเสียไป รวมถึงการดื่มน้ำเย็นๆ ในทันทีจะทำให้เกิดการหดเกร็งของกระเพาะอาหารได้

ทั้งนี้ ภาวะฮีทสโตรกป้องกันได้ ดังนี้ สวมใส่เสื้อผ้าโปร่งระบายลมได้ง่าย หากรู้ตัวว่าจะต้องไปอยู่ในที่อากาศร้อนอาจป้องกันตัวเองจากแสงแดดโดยสวมใส่แว่นกันแดดหรือหมวกรวมถึงใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 15 ขึ้นไป ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักในที่อาการร้อนและถ่ายเทไม่สะดวก หากพบผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่ามีอาการที่เข้าข่ายของโรค ควรติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินหรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โทร.02-310-3000 contact center โทร.1719