มูลนิธิกสิกรไทย เปิดโครงการ “เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์” มอบเงินสนับสนุนรวม 300 ล้านบาท ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

0
1484

มูลนิธิกสิกรไทย มอบเงินสนับสนุนมนุษย์งานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานด้านสาธารณสุขในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 จัดตั้งโครงการ “เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์” นำร่องในโรงพยาบาลรัฐ จำนวน 45 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง มีบุคลากรรวม 5,083 คน โดยแต่ละคนจะได้รับเงินรายเดือนๆ ละ 4,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยคาดว่าตลอดทั้งโครงการสามารถมอบเงินช่วยเหลือได้รวมกว่า 20,000 คน  ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทุ่มเทและเสียสละแม้ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยง

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการ มูลนิธิกสิกรไทย กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสาธารณสุข เป็นกำลังหลักสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาด้วยหัวใจที่ทุ่มเทและเสียสละ นอกจากเสี่ยงกับการติดเชื้อแล้ว โรงพยาบาลบางแห่งยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย ในขณะที่ต้องดูแลประชาชน ทุกท่านต่างก็มีภาระที่ต้องดูแลตนเองและครอบครัวให้อยู่รอดและปลอดภัยเช่นกัน มูลนิธิกสิกรไทยจึงมอบเงินสนับสนุนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักรบเสื้อกาวน์รวม 20,000 คน คนละ 4,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 รวมงบประมาณทั้งสิ้น 300 ล้านบาท เพื่อจะได้นำเงินไปใช้จ่ายตามความจำเป็น โดยมูลนิธิกสิกรไทยจะมีกระบวนการจ่ายเงินเพื่อให้มั่นใจว่าเงินดังกล่าวถึงมือนักรบเสื้อกาวน์ได้อย่างทั่วถึง

โครงการ “เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์” เป็นโครงการที่ดำเนินการโดย มูลนิธิกสิกรไทยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้รวบรวมรายชื่อโรงพยาบาลที่เข้าข่ายตามเกณฑ์จำนวน 45 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงแล้วยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ได้แก่ จังหวัด สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสตูล มีบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 5,083 คน ทั้งหมดเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานตั้งแต่มีการแพร่ระบาด และมีหน้าที่ในงานที่ได้สัมผัสเชื้อและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขจนถึงวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา