ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ : ถอดบทเรียนจากมัลดีฟส์ และเซเชลส์ 

0
1349

การเร่งกระจายฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนของไทยกำลังให้ความสำคัญ เนื่องจากเชื่อว่า “วัคซีน” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีโอกาสกลับมาพลิกฟื้นได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศในโซนยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อิสราเอล รัสเซีย ได้ทยอยฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศ จนเริ่มมีนักท่องเที่ยวพร้อมออกเดินทาง ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศไทยมีความคาดหวังว่าหากแผนการกระจายวัคซีนดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะกลับมาเปิดประเทศได้ภายใน 120 วัน โดยเริ่มจาก “โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ “ ที่จะดำเนินการวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ เพื่อนำร่องต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และจะเป็นโมเดลขยายการเปิดประเทศไปยังจังหวัดท่องเที่ยวหลักอื่น ๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีหลายประเทศดำเนินการฉีดวัคซีนในปริมาณที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในระดับหนึ่งแล้ว ได้แก่  มัลดีฟส์ และเซเชลส์ กลับพบว่ายังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกใหม่อย่างรุนแรงจนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงอีกครั้ง ด้วยเหตุที่ทั้งสองประเทศนี้มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยในหลายมิติ อาทิ  สภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะของมัลดีฟส์ และหมู่เกาะเซเชลส์ ที่คล้ายคลึงกับจังหวัดภูเก็ตซึ่งจะเป็นจังหวัดนำร่องในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ทำการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อถอดบทเรียนประเทศเหล่านั้น พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 

ถอดบทเรียนมัลดีฟส์และเซเชลส์ : หมู่เกาะที่ภูมิประเทศคล้ายภูเก็ต หลังจากเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น พบความเสี่ยงจากการระบาดของสายพันธุ์อื่นนอกประเทศ

เมื่อถอดบทเรียนการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้รับวัคซีนในอัตราฉีดสูงและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กรณีหมู่เกาะเซเชลส์ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงถึง 71.5%  แต่เมื่อมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กลับพบการระบาดของเชื้อเฉลี่ยสูงขึ้น 3.8 เท่าตัว ในช่วงเดือนเมษายน ถึง มิถุนายน ในขณะที่ประเทศมัลดีฟส์ที่มีอัตราการฉีดวัคซีน 58.3% พบการระบาดสูงขึ้นกว่าเดิม 8.2 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจะเห็นว่าหลังจากเปิดประเทศแล้ว ทั้งสองประเทศยอดนักท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นในสองเดือนแรก แต่ในเดือนที่สามเริ่มพบยอดการติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชี้ถึงโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสที่แตกต่างจากสายพันธุ์ท้องถิ่น โดยเป็นสิ่งที่ไทยต้องตระหนัก 

เมื่อมองย้อนกลับมาที่จังหวัดภูเก็ต ในช่วงที่ผ่านมามีความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยประชาชนในจังหวัดภูเก็ตได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 3.6 แสนคน คิดเป็น 87% ของประชากร และเข็มที่สอง 2.9 แสนคน คิดเป็น 70% ของประชากร ดังนั้น การฟื้นฟูการท่องเที่ยวผ่าน “โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ ซึ่งจังหวัดได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขภายในจังหวัดที่รัดกุมตามแผน เช่น แผนสำรองเรื่องการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมให้กับประชาชนและผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น  ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มมาแล้วเป็นเวลา 14 วัน จึงสามารถเข้ามาเที่ยวที่ภูเก็ตได้โดยต้องพำนักอยู่ในภูเก็ตเป็นเวลา 14 คืน ก่อนที่จะเดินทางไปเที่ยวสถานที่อื่นในประเทศไทย นอกจากนี้ จะต้องมีการตรวจเชื้อคัดกรองโรคโควิด-19 จำนวน 3 ครั้งในระหว่างอยู่ภูเก็ต  และต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus และแอปหมอชนะ เพื่อให้ติดตาม timeline ได้ รวมถึง การอนุญาตชาวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวจะต้องเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลางตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด  ซึ่งคาดว่าในระยะแรก นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้แก่ เยอรมัน อังกฤษ รัสเซีย ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส ซึ่งประเทศที่นิยมมาภูเก็ตก่อนเกิดการระบาด คิดเป็น 30% ของนักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ต

ด้วยแนวทางที่ได้เตรียมการไว้ของภาครัฐ เอกชน ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ และบทเรียนการเปิดให้ท่องเที่ยวของประเทศอื่น ๆ จะช่วยให้ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  เป็นโมเดลตัวอย่างเพื่อปรับใช้พื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ กระบี่ พังงา เชียงใหม่ พัทยา บุรีรัมย์ ช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาอีกครั้ง