ปลื้ม ห้องปลอดฝุ่นต้นแบบแห่งแรกที่ศูนย์เด็กเล็ก ใน จ.ลำปาง ป้องกัน PM2.5 ได้ผล ลดปัญหาสุขภาพเด็กในพื้นที่เสี่ยง ต้นทุนต่ำ

0
416

สสส.-กรมอนามัย เดินหน้าสานพลังภาคี ขยายผลคุ้มครองสุขภาพประชาชนให้ครอบคลุมพื้นที่ประสบปัญหาวิกฤติฝุ่นควันมากขึ้น

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย น.ส.นัยนา ใช้เทียมวงค์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย ผศ.ดร ประพันธ์ พงษ์เกียรติกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะ เดินทางลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลป่าตันนาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เพื่อติดตามโครงการ “นวัตกรรมห้องปลอดฝุ่นและขับเคลื่อนชุมชนเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างยั่งยืน”

นายชาติวุฒ กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลป่าตันนาครัว เป็น 1 ใน 30 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำร่อง “ห้องปลอดฝุ่น” โดยดำเนินการเป็นที่แรกในประเทศ พบว่าช่วยเด็ก เยาวชนในพื้นที่ประสบปัญหา PM2.5 เข้มข้นให้ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย เป็นนวัตกรรมสำคัญที่ สสส. สานพลังกรมอนามัยและภาคีเครือข่าย ดำเนินการเร่งด่วนเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพกลุ่มเสี่ยงเช่นเด็กและเยาวชน มีรูปแบบที่หลากหลาย สามารถปรับใช้ได้ตามขนาดห้อง ลงทุนไม่มาก ท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่ที่มีปัญหา PM2.5 สามารถนำต้นแบบไปจัดสร้างห้องปลอดฝุ่น เพื่อดูแลสุขภาพเด็กและเยาวชนของตนเองได้ ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ต้องยึดหลัก 5 ส สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย หมั่นซักล้างสิ่งที่อมฝุ่น เช่น ตุ๊กตา หมอน ส่วนการทำความสะอาดห้อง ขอให้งดการใช้ไม้กวาด เปลี่ยนมาใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถูกแทน เพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายในห้อง

ผศ.ดร ประพันธ์ พงษ์เกียรติกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า “ห้องปลอดฝุ่น” เป็นการนำเอามาตรการห้องปลอดฝุ่นของกรมอนามัยมาประยุกต์ คือใช้กลไกการฟอกอากาศ และการเติมอากาศลงไป ให้สภาพห้องมีอากาศหมุนเวียนปกติ แต่ไม่มีปริมาณฝุ่นมากเท่ากับภายนอก โดยใช้เครื่องเติมอากาศ 1 เครื่อง ดูดอากาศเข้าไป จากนั้นกรองอากาศก่อนเข้าไป และใช้เครื่องฟอกอากาศอีก 1 เครื่อง ทำการฟอกอากาศภายในห้อง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถซื้อหา และติดตั้งได้ไม่ยาก ใช้งบประมาณแค่หลักหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของเครื่องกรองและฟอกอากาศ เพียงแต่ต้องคำนวณขนาดของเครื่องให้เหมาะสมกับพื้นที่ใช้สอย

นายยูนิตย์ เชื้อคำลือ นายกเทศมนตรีตำบลป่าตันนาครัว กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลป่าตันนาครัว มีเด็กเล็กอายุ 2-3 ขวบจำนวน 27 คน ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ทั้งไอ มีน้ำมูก เทศบาลต้องใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำบนหลังคาอาคารเรียน ลดปัญหาได้ชั่วคราว แต่เมื่อมี “ห้องปลอดฝุ่น” สังเกตว่าลูกหลานภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ มีสุขภาพร่างกายดีขึ้น ไม่ค่อยไอ จาม เหมือนเดิม เทศบาลฯ

จึงมีแนวคิด จัดสร้าง “ห้องปลอดฝุ่น” ให้เด็กนักเรียนระดับชั้นอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกหลานในพื้นที่ ส่วนมาตรการทางพื้นที่ ได้ร่วมกับอำเภอ จังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขัน ตรวจตราไม่ให้มีการลักลอบเผาขยะ เผาวัชพืชในพื้นที่ทางการเกษตรอย่างเข้มข้น