บทความให้ความรู้ “ดูดนิ้ว หยิบของเข้าปาก” หากลูกน้อยคุณกำลังอยู่ในวัยนี้ พึงเฝ้าระวัง อาจเสี่ยงเป็นโรคท็อปฮิต “มือ เท้า ปาก” ได้

0
1476

การได้เห็นลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีตามวัยเป็นความสุขของคนเป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะในวัยเด็กเล็กที่กำลังมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ชอบใช้มือหยิบจับของเล่น หยิบอาหารเข้าปาก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมแต่ก็ต้องเฝ้าระวังเชื้อโรคด้วยเช่นกัน  เพราะมีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย และอาจเป็น “โรคมือ เท้า ปาก” ได้ นับเป็นอีกโรคท็อปฮิตที่มักแพร่ระบาดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  ติดต่อกันผ่านการสัมผัสเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ทำให้มีไข้ แผลในปาก ตุ่มพองใส มีผื่นแดงหรือตุ่มใส บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือก้น  ถึงไม่เป็นโรคร้ายแรงแต่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย

มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” เปิดเผยโดย แพทย์หญิง ชุติมา กอจรัญจิตต์ และแพทย์หญิง ศณิตา ศรุติสุต กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ เกี่ยวกับการสังเกตและเฝ้าระวัง “โรคมือ เท้า ปาก” ในเด็กเล็กมาฝากกัน

แหล่งที่มีเด็กอยู่เยอะยิ่งเสี่ยง 

ในโรงเรียนหรือสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก จัดเป็นสถานที่เสี่ยง หากมีเด็กคนหนึ่งติดโรคขึ้นมาก็สามารถติดต่อไปยังเด็กคนอื่น ๆ ได้ง่าย  โดยเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัสมาจากสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย จากการไอจามของเด็กที่ป่วย น้ำจากตุ่มแผล และอุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งสารคัดหลั่งพวกนี้จะติดอยู่กับของเล่นและของใช้ต่าง ๆ หากเด็กนำมือที่สัมผัสเชื้อมาเข้าปาก ไม่ว่าจะหยิบของกิน เอาของเล่นเข้าปาก หรือแม้แต่ดูดนิ้ว ก็ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ 

อาการแบบไหนใช่ “โรคมือ เท้า ปาก” แน่ๆ

ลูกน้อยของคุณจะเริ่มแสดงอาการป่วยภายใน 3 – 6 วันหลังได้รับเชื้อ โดยอาจมีไข้ต่ำหรือสูงก็ได้ จากนั้นอีก 1 – 2 วัน จะเริ่มมีอาการเจ็บปาก น้ำลายไหล ทานอาหารไม่ได้ เนื่องจากมีแผลในช่องปาก ไม่ว่าจะที่ลิ้น เหงือก หรือกระพุ้งแก้ม และเริ่มมีตุ่มน้ำ ตามบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น

การดูแลเจ้าตัวน้อยหากติดเชื้อ

    แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ และควรเช็ดตัวเด็กเป็นระยะๆ เพื่อลดไข้ ควรให้เด็กรับประทานอาหารอ่อน หรือเป็นอาหารที่เย็น เพราะความเย็นจะทำให้ไม่เจ็บปากขณะรับประทาน หากเป็นเด็กทารกอาจต้องป้อนนมแทนการให้ดูดจากขวด ปกติอาการของโรคมักหายเองใน 5-7 วัน มักไม่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน

อาการแบบไหนถึงเรียกว่ารุนแรงที่ควรพาไปพบแพทย์ทันที

หากมีอาการซึม ไม่ยอมทานอาหารหรือนํ้าดื่ม ปวดต้นคอ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก สะดุ้งผวา ตัวสั่น เขียวคล้ำที่บริเวณลำตัว มือ และเท้า ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือนํ้าท่วมปอดได้ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยแต่หากเป็นแล้วรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

การป้องกันโรค

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง ควรสอนและฝึกวินัยเด็กให้ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำด้วยน้ำและสบู่  สอนเด็กให้ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอด ผ้าเช็ดหน้า หากรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นต้องใช้ช้อนกลาง ไม่ควรให้เด็กไปเล่นในบริเวณที่พบว่ามีการระบาดของโรค โดยตัวผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กเองต้องล้างมือทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม และหลังการดูแลเด็กป่วย 

คำแนะนำสำหรับโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ควรหมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ ทำความสะอาดเครื่องเล่น ของเล่น และห้องน้ำ อยู่เสมอ หากพบเด็กที่ป่วยควรให้หยุดเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

โรคมือ เท้า ปาก สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากที่สุดในช่วงฤดูฝน  ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพทย์จะให้การรักษาตามอาการและเฝ้าติดตามอาการของโรค ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเฝ้าระวังและศึกษาวิธีป้องกันภัยใกล้ตัวลูกน้อย  หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอื่น ๆ สามารถขอคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ทั้ง 10 แห่ง ใน 9 จังหวัด จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ  จังหวัดสมุทรปราการ  โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์  โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร โรงพยาบาลศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน  และโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร  และ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และสามารถติดตามสาระดี ๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก : Principal Healthcare Company