ทิพยประกันภัยรณรงค์สร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม  ชวนสังคมขยายผลปรับวิถีชีวิตสู่สมดุลด้วยนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 15

0
1379

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจ ร่วมกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 15 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดเพชรบุรี  เพื่อสร้างจิตสำนึกการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ปรับวิถีชีวิตสู่สมดุลด้วยนวัตกรรมศาสตร์พระราชา

ด้วยปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังก่ออันตรายต่อระบบนิเวศของโลก ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ หากยังปล่อยให้สภาพปัจจุบันดำเนินต่อไป  จากข้อมูล Center for Climate and Energy Solution (CCES) ระบุว่าเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำระเหยขึ้นไปในอากาศจำนวนมากเป็นสาเหตุให้น้ำในดินหายไปและทำให้เกิดความแห้งแล้ง นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังเชื่อมโยงไปถึงความเสี่ยงในการการเกิดไฟป่าที่บ่อยขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ป่าและผู้คนที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศร่วมกัน  จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือแก้ไขและหาทางป้องกันเพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาป่าไม้อเนกประสงค์มุ่งหมายศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและปลูกป่า จัดสรรที่ทำกินให้กับราษฎร ที่ได้เข้ามาบุกรุกทำกินอยู่แต่เดิมให้ได้เข้าอยู่อาศัย และให้ความรู้กับราษฎร ให้ทำการเกษตรอย่างถูกวิธี รวมทั้งให้มีส่วนร่วมในการปลูกป่า ดูแลรักษาป่า ตลอดจนให้ได้รับประโยชน์จากผลผลิตของป่า เพื่อที่ราษฎรจะได้ไม่บุกรุกทำลายป่าอีกต่อไป เป็นการดูแลทรัพยากรที่สำคัญ ทั้งคนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมที่ครู อาจารย์จะได้ลงพื้นที่ปฎิบัติจริง คือการปลูกหญ้าแฝกในดินดาน ซึ่งเป็นดินที่เสื่อมสภาพแข็งและเหนียว ไม่สามารถปลูกพืชอะไรได้ และการทำถ่านจากไม้ไผ่เพื่อใช้ในการปรับสภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ หรือใช้เพื่อการดับกลิ่น

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า นอกเหนือจากการที่เราดูแลสังคมมาอย่างต่อเนื่อง จากโครงการ “ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด” โดยได้จัดกิจกรรมให้ครอบคลุมการช่วยเหลือสังคมทุกมิติ  แต่อีกด้านที่เราไม่ควรละเลยนั่นคือ “สิ่งแวดล้อม”  ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของโลกใบนี้ การที่คณะครู อาจารย์ และผู้ที่สนใจได้มาร่วมทำกิจกรรมที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี จะได้ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการอนุรักษ์ผืนดิน ป่า และน้ำ รวมถึงวิธีการป้องกันรักษาธรรมชาติด้วยการปลูกหญ้าแฝก เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟิ้นฟูและปรับปรุงดิน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ลงมือกระทำ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

สำหรับกิจกรรมโครงการทิพยตามรอยพระราชาฯ ในการลงพื้นที่เรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่ผ่านมา ได้แก่ 1.ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม 2.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 3.โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ และโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี        4.เขื่อนขุนด่านปราการชล ศูนย์ภูมิรักษ์ จังหวัดนครนายก 5.โครงการพัฒนาชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จังหวัดจันทบุรี 6.มหาชีวาลัยอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ 7.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 8.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ 9.อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา และโครงการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี 10.สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พื้นที่เงาฝน จังหวัดเพชรบุรี 11.โครงการ อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จังหวัดสมุทรสงคราม 12.มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดนครสวรรค์ 13.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา 14. โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี