จับตาถ้อยแถลงของประธาน Fed และความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์

0
1503

วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 22 – 26 มี.ค. 2564

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-19 มี.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ ได้รับปัจจัยกดดันจากแรงขายในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ยังเพิ่มสูงขึ้น และแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายด้านเงินทุน (Supplementary Leverage Ratio : SLR) ขณะที่ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ประชุมฯ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมจนถึงสิ้นปี 2023 และคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์อยู่ที่ 120,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ต่อเดือน ตามเดิม ตลาดหุ้นยุโรป ปิดทรงตัว จากความกังวลการระบาดรอบใหม่ในยุโรป โดยอิตาลี และฝรั่งเศสได้มีการประกาศใช้มาตรการ lockdown อีกครั้ง รวมทั้ง การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างล่าช้าในบางประเทศของยุโรป ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดบวกเล็กน้อย แม้ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เปลี่ยนเป้าหมายการซื้อ ETF ตามสถานการณ์ และคงการซื้อ ETF เฉพาะในดัชนี TOPIX ก็ตาม ส่วนตลาดหุ้นจีน (A-share) ปรับลดลง หลังการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีน เมื่อวัน 18-19 มี.ค. ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับ ยังมีความกังวลว่า รัฐบาลจีนอาจออกนโยบายเพื่อควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อนแรงเกินไป ด้านตลาดหุ้นไทย ปิดลบเช่นกัน จากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับลดลง และดัชนีฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนน้ำหนักดัชนีรอบใหม่ ของผู้จัดทำดัชนี FTSE ที่ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย สำหรับราคาน้ำมันดิบ ปรับลดลงอย่างมาก จากความกังวลที่ว่า การใช้มาตรการ lockdown รอบใหม่ในยุโรป อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันโลก และจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ส่วนราคาทองคำ ปิดบวก หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี 2023 

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยตลาดหุ้นยังคงได้รับอานิสงส์ จากผลของการออกมาตรการเยียวยารอบใหม่ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ และความคาดหวังของนักลงทุนต่อแนวโน้มการออกมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ วงเงิน 2-4 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ภายในปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าของการทยอยแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลก ได้เปิดเผยว่า ข้อมูลการใช้วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca ไม่ได้บ่งชี้ถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และ WHO จะยังจับตาผลกระทบของวัคซีนดังกล่าวต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ความกังวลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Growth สหรัฐฯ ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นมามาก และ Valuation ค่อนข้างตึงตัว รวมไปถึง ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ประกอบกับ นักลงทุนบางส่วนมีแนวโน้มระมัดระวังการซื้อขาย เพื่อรอติดตามถ้อยแถลงของนายพาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ และสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐฯ หลายท่าน ว่าจะมีการส่งสัญญาณ หรือกล่าวถึงเครื่องมือ เพื่อช่วยชะลอการเพิ่มสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หรือไม่ โดยประเด็นข้างต้นเหล่านี้ จะยังสร้างความผันผวน และกดดันตลาดหุ้นโดยรวม

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

  • การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายด้านเงินทุนของธนาคารสหรัฐฯ (SLR) ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.นี้ โดยการไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าว อาจส่งผลให้ธนาคารสหรัฐฯ มีความต้องการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลง หรืออาจขายพันธบัตรสหรัฐฯ ออกมา เพื่อให้อัตราส่วน SLR เป็นไปตามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำหนด
  • ถ้อยแถลงของนายพาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยนายพาวเวล จะแถลงต่อคณะกรรมการบริการการเงินสภาผู้แทนราษฎร (23 มี.ค.) ตามด้วยการแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินวุฒิสภา (24 มี.ค.) และถ้อยแถลงของนางเยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ คาดว่า ถ้อยแถลงของนายพาวเวล จะไม่แตกต่างจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ รอบล่าสุด มากนัก 
  • ติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยฝรั่งเศสได้ประกาศใช้มาตรการ lockdown อีกครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. ขณะที่ เยอรมนีได้ขยายระยะเวลาปิดเมืองออกไปอีก 4 สัปดาห์จนถึงวันที่ 18 เม.ย. อย่างไรก็ดี ไอร์แลนด์ได้ประกาศเปิดประเทศให้กับชาวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ขณะที่ จีนได้ประกาศว่าจะรับชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ หากได้รับการฉีดวัคซีนที่ผลิตจากจีน
  • ประเด็นเรื่องการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 โดยเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนได้ประกาศกลับมาใช้วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca ในขณะที่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน ยังคงชะลอการฉีดวัคซีนดังกล่าว ด้านสหรัฐฯ ได้แจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 โดสแรกไปแล้วกว่า 21% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด และผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ยังกล่าวว่า สหรัฐฯ จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้
  • ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรป และสหราชอาณาจักร (UK) โดยเจ้าหน้าที่ยุโรปได้ระบุว่า ยุโรปมีแนวโน้มห้ามการส่งออกวัคซีนของ AstraZeneca และส่วนผสมไป UK เนื่องจากยุโรปต้องการให้กระบวนการฉีดวัคซีนเป็นไปตามกำหนด ขณะที่ ก่อนหน้านี้ EU ออกกฎหมายต่อต้านการละเมิดข้อตกลง Brexit ของ UK เนื่องจาก UK ชะลอการตรวจสอบสินค้าข้ามแดนระหว่าง UK และไอร์แลนด์เหนือ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยผลการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีน ยังคงไม่มีความคืบหน้าสำคัญใดๆ ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สามารถบรรลุเป้าหมายขั้นต้นในการแสดงถึงความกังวลอย่างมากของสหรัฐฯ และพันธมิตร เกี่ยวกับพฤติกรรม และการกระทำของจีน เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง การกวาดล้างผู้เห็นต่างในฮ่องกง และการข่มขู่ไต้หวัน เป็นต้น
  • ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย โดยล่าสุดเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ ได้เดินทางกลับมอสโก เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับวิธีการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย หลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวว่า ประธานาธิบดี ปูติน ของรัสเซีย เป็นฆาตกรที่ต้องรับผลจากการกระทำในการแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ
  • ความกังวลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่บางประเทศ หลังจากที่นายซาฮาป คาฟซีโอกูล ซึ่งมีแนวนโยบายที่ค่อนข้างต่อต้านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้รับการแต่งตั้งแทนผู้ว่าธนาคารกลางตุรกีคนเดิมซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2% อยู่ที่ระดับ 19% เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น 
  • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยที่ประชุมฯ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตามเดิม เพื่อ คงขีดความสามารถในการใช้นโยบายการเงิน ลดการแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับความเสี่ยง และ เพื่อรอดูผลจากการออกมาตรการเยียวยาของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา  นอกจากนี้ ให้ติดตามการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2021-2022 
  • การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 4/2020 เช่น Kingfisher Cineworld Compass Tencent และ Gamestop 
  • ตัวเลขเศรษฐกิจ

สหรัฐฯ ยอดขายบ้านใหม่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ GDP ในไตรมาสที่ 4 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก รายได้ส่วนบุคคล ยอดใช้จ่ายส่วนบุคคล ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีราคาการใช้จ่ายพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน

ยุโรป ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

เยอรมนี  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

อังกฤษ  ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต และยอดค้าปลีก

ญี่ปุ่น  ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต และดัชนีราคาผู้บริโภค

ไทย  ยอดส่งออก ยอดนำเข้า ดุลการค้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

วิเคราะห์โดย: นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ SCBS-Chief Investment Office
นายจตุรภัทร ทนาบุตร  ผู้จัดการ SCBS-Chief Investment Office