ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.47 บาทต่อดอลลาร์  “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.42 บาทต่อดอลลาร์

0
874

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ อยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นและเริ่มทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมา หลังจากที่รายงานการประชุม FOMC ล่าสุด สะท้อนว่าเฟดยังมีแนวโน้มเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนกว่าเฟดจะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ อย่างไรก็ดี รายงานการประชุมเฟดได้ส่งสัญญาณว่าแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจชะลอลงจาก 0.75% เป็นการขึ้น 0.50% ในการประชุมเดือนกันยายน (ตลาดประเมินโอกาสราว 65% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนกันยายน จาก CME FedWatch Tool) ทั้งนี้ รายงานยอดค้าปลีกพื้นฐาน (ไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้างและอาหาร) สหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมที่ขยายตัว 0.4% จากเดือนก่อนหน้า ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมถึงแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.90% และยังคงกดดันให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.25% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปิดตลาด -0.72%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลงกว่า -0.91% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังจากที่ล่าสุด เงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษในเดือนกันยายน พุ่งสูงขึ้นกว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจาก ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 106.6 จุด หนุนความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้เล่นในตลาดในช่วงที่ตลาดการเงินยังคงผันผวน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,779 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวลดลงของราคาทองคำอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซน โดยตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็มีแนวโน้มเร่งขึ้นสู่ระดับ 8.9% เช่นกัน ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนกันยายน โดย ECB อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ต่อเนื่องได้ หากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบางส่วนที่กดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจเปิดจังหวะให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมเริ่มเข้าสู่ภาวะระมัดระวังตัวและปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งขายสุทธิหุ้นไทยก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทคงไม่ได้รุนแรงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ อยู่ นอกจากนี้ ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนแนวต้านแถว 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทอาจยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าวในช่วงนี้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.35-35.55 บาท/ดอลลาร์