ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น​ จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.01 บาทต่อดอลลาร์

0
1090

สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดยังเชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ได้ในการประชุมเดือนกรกฎาคม

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านรายงานเงินเฟ้อ CPI และเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลาง เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้จะอยู่ที่รายงานเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน ซึ่งตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI จะยังปรับตัวขึ้นสู่ระดับที่สูงถึง 8.8% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งไม่รวมผลของราคาน้ำมันและอาหารสด จะอยู่ที่ 5.8%) ทำให้เฟดยังคงจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.75% ในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการจะชะลอตัวลงมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดจะจับตารายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) อย่างใกล้ชิด โดยผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อสูงและภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะกดดันให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคมลดลงสู่ระดับ 49 จุด จาก 50 จุด ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นข้อมูลคาดการณ์เงินเฟ้อระยะกลาง (U of Michigan 5-yr Inflation Expectations) ว่าจะเริ่มชะลอลงจากระดับ 3.1% จากที่สำรวจในเดือนก่อนหน้า หรือจะพุ่งสูงขึ้น เพราะหากเงินเฟ้อคาดการณ์เร่งตัวขึ้น ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดยังคงจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงในปีนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้ เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานสภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟด ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและอาจเข้าสู่สภาวะถดถอยที่เพิ่มสูงขึ้น

ฝั่งยุโรป – ปัญหาเงินเฟ้อสูง พร้อมกับภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากขึ้น ทำให้บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันต่างมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป อาทิ เยอรมนี แย่ลงมากขึ้น สะท้อนผ่านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนกรกฎาคมที่จะปรับตัวลดลงหนักสู่ระดับ -38 จุด จาก -28 จุด ในเดือนก่อนหน้า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักจะยังเป็นแรงกดดันต่อสินทรัพย์ในฝั่งยุโรป อาทิ ตลาดหุ้นยุโรป และค่าเงินยูโร (EUR) ในระยะนี้ได้

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า ปัญหาเงินเฟ้อสูงและการอ่อนค่าต่อเนื่องของค่าเงิน ท่ามกลางแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียอาจเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.50% เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 0.50% สู่ระดับ 2.25% หลังเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางอาจเริ่มชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ หากเงินเฟ้อเริ่มชะลอลงและเศรษฐกิจหลักส่งสัญญาณชะลอตัวลงหนักชัดเจนขึ้น ส่วนในภาพเศรษฐกิจนั้น ตลาดมองว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือนมิถุนายนจากอานิสงส์ของการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทางการจีน ทำให้ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะโตราว 0.3%y/y จากที่ดิ่งลงกว่า -6.7% ในเดือนก่อนหน้า ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็จะขยายตัวราว 4.3%y/y จากที่โตเพียง 0.7% ในเดือนก่อน เช่นเดียวกับ ยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) ก็ยังขยายตัวได้ราว 6.0%y/y, YTD ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 อาจโตเพียง 1.0%y/y ชะลอลงจากที่โตได้ 4.8% ในไตรมาสแรก จากผลกระทบของการระบาด COVID-19

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยต้องระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงรับรู้รายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอด้วยแรงขายของผู้ส่งออกที่ต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า รวมถึงแรงซื้อ Buy on Dip หุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ราคาทองคำ

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ และเงินเฟ้อคาดการณ์พุ่งขึ้นสูงกว่าคาดไปมาก ทำให้ตลาดมองเฟดอาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ หากภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ทั้งจีนหรือยุโรปออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.70-36.30 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-35.90 บาท/ดอลลาร์
_______________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย​ฃ