ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.77 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.89 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิดวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน)

0
418

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ทว่า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังดัชนี ISM PMI ภาคการบริการสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม AI และปัญหาเพดานหนี้ที่คลี่คลาย

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ และจีนโดย ส่วนในฝั่งไทย รอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนพฤษภาคม

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – สัปดาห์นี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาจมีไม่มากนัก และยังเป็นช่วง Black Out/Silent Period ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะไม่ทราบมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพิ่มเติม โดยเฉพาะหลังจากที่ตลาดรับรู้รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.5 จุด ในเดือนพฤษภาคม หนุนโดยตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยที่กดดันการขยายตัวในภาคการบริการ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) เพื่อช่วยประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวราว +0.2% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยภาวะการจ้างงานที่ยังคงดีอยู่ ทว่าปัญหาค่าครองชีพสูงจากภาวะเงินเฟ้อสูงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการบริโภคโดยรวม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักดังกล่าว

▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด หลังข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดต่างชี้ว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้แย่กว่าคาด โดยเฉพาะดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งตลาดคาดว่า การชะลอตัวลงของภาคอุตสาหกรรมอาจสะท้อนผ่าน ยอดการนำเข้าเดือนพฤษภาคมที่อาจหดตัว -8%y/y ส่วนยอดการส่งออกก็อาจหดตัว -2%y/y ตามแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ล้วนชะลอตัวลง นอกจากนี้ โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ทางการจีนและธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดมองว่าธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) รวมถึงธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะตัดสินใจ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.85% และ 6.50% ตามลำดับ หลังอัตราเงินเฟ้อของทั้งออสเตรเลียและอินเดีย ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ภาพรวมเศรษฐกิจก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง

▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนพฤษภาคมอาจชะลอลง -0.05% จากเดือนก่อนหน้า (คิดเป็น +1.2%y/y เนื่องจากระดับฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้า) ตามการปรับตัวลงของราคาสินค้าพลังงาน ทว่าราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มอาจยังคงปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.5 จุด ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ เราจะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพราะหากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจลดโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคม

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทแผ่วลงชัดเจนมากขึ้น โดยเงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านโซน 34.90 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ทำให้เรามองว่าผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาท ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน และควรจับตาทิศทางราคาทองคำและค่าเงินหยวนซึ่งมีผลกับเงินบาทในช่วงนี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราคงมองว่า Upside เงินดอลลาร์อาจมีไม่มาก โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่ขาดถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทำให้หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ผู้เล่นในตลาดจะยิ่งมองว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน กดดันให้เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.40-34.95 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.85 บาท/ดอลลาร์