ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.47 บาทต่อดอลลาร์

0
342

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก หลังผลประกอบการและคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ Netflix -3.2% จะออกมาแย่กว่าคาดหรือน่าผิดหวัง (ราคาหุ้น Tesla ดิ่งกว่า -6.0% ในช่วงการซื้อขาย After market หลังรายงานผลประกอบการแย่กว่าคาด) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ กลุ่ม Healthcare และ กลุ่ม Utilities บ้าง ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ย่อลงเล็กน้อย -0.01%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงราว -0.10% กดดันโดยท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หลังอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ของ ECB ไปมาก (อัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 6.9%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Semiconductor หลัง ASML -3.7% แสดงความกังวลต่อแนวโน้มความต้องการใช้ Chip แม้ว่ารายงานผลประกอบการล่าสุดจะออกมาดีก็ตาม

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นและแกว่งตัวแถวโซนแนวต้าน 3.60% โดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในวันศุกร์นี้ ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด ก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง แต่การปรับตัวขึ้นจะมากหรือน้อย อาจต้องรอลุ้นว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงหรือปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะขึ้นกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนอาจรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ได้ เช่น รอซื้อสะสมหลังเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยมีจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวหลุดแนวรับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะได้แรงซื้อในจังหวะย่อตัวหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 2,005 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อใช้ประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ โดยเฉพาะหากผลประกอบการหรือคาดการณ์ผลประกอบการออกมาน่าผิดหวัง ก็อาจส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยงต่อได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าไปตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงของราคาทองคำ แต่เงินบาทก็ยังคงไม่สามารถทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ก่อนที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาบ้าง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลงเล็กน้อย ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้น (ซึ่งอาจมีผู้เล่นบางส่วนขายทำกำไรการรีบาวด์ทองคำออกมาบ้าง)

ในวันนี้ เรามองว่า หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากแรงขายสินทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีในระหว่างวัน การอ่อนค่าของเงินบาทอาจติดอยู่ในโซนแนวต้านแถว 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่ามาใกล้โซนดังกล่าวพอสมควร

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ โดยหากยอดดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำหรือออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจหนุนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อและอาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งต้องจับตาว่า ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 102.5 จุด ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะเป็นสัญญาณสะท้อนว่า ดัชนีเงินดอลลาร์มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อทดสอบโซน 103 จุด ขึ้นไป

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.55 บาท/ดอลลาร์