ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.08 บาทต่อดอลลาร์

0
332

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ชี้ว่า ผู้เล่นในตลาดมอง เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00% ก่อนที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงเหลือ 4.00% ในเดือนธันวาคม ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้เกิดแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่ปรับตัวลงในวันก่อน (Nvidia +2.7%, Microsoft +2.0%) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ อยู่ แม้ว่าทางการสหรัฐฯ และเฟดจะย้ำจุดยืนพร้อมป้องกันระบบธนาคารก็ตาม โดยหุ้นกลุ่มธนาคารยังคงเผชิญแรงขายต่อ (BofA -2.4%, Morgan Stanley -2.0%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.30% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.01%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.21% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร (UBS -4.3%, HSBC -2.9%) หลังนักวิเคราะห์เริ่มปรับลดมุมมองคำแนะนำต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร จากทั้งปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารยุโรปที่เกิดขึ้นและแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในฝั่งยุโรปที่อาจกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth สอดคล้องกับทิศทางในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ASML +2.8%, Hermes +1.5%)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะกลับมาลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องหลังจบรอบการขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.38% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.42% ซึ่งเรามองว่า ตลาดอาจมีมุมมองเชิงลบที่มากเกินไป ทำให้เสี่ยงต่อการปรับมุมมอง (Repricing) หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด (รอจับตารายงานดัชนี PMI ในวันนี้ รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ PCE ในสัปดาห์หน้า และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมในช่วงต้นเดือนเมษายน ) ทำให้เรามองว่า นักลงทุนควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวลดลง ในการทยอยขายทำกำไรบ้าง และรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อสะสม (อาจไม่ต้องรอให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทะลุระดับ 4.00%)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง แต่โดยรวมเงินดอลลาร์ก็สามารถพลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.6 จุด อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยเพิ่มสถานะ Short เงินดอลลาร์ได้ ทำให้เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าไปได้ไม่มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า สุดท้ายเฟดจะต้องกลับมาทยอยลดดอกเบี้ยลง จนกว่าข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจออกมาดีกว่าคาด จะเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าตลาดจะเปิดรับความเสี่ยง แต่การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟด ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อลงสู่ระดับ 1,993 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนมีนาคม โดยในฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปจะเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือนมีนาคม สะท้อนผ่าน ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคการบริการ (Composite PMI) ที่ระดับ 52 จุด สำหรับยูโรโซน และระดับ 52.7 จุด สำหรับอังกฤษ ซึ่งส่วนหนึ่งหนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ หลังวิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรปไม่ได้น่ากังวลมากนัก ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ คาดว่า ในเดือนมีนาคมนั้น ภาคการผลิตอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ระดับ 47.6 จุด (ดัชนีน้อยกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) โดยส่วนหนึ่งมาจากตามความต้องการสินค้าที่ลดลง ทว่า ภาคการบริการจะยังคงขยายตัวได้ดี ชี้จาก ดัชนี PMI ภาคการบริการที่ระดับกว่า 50.8 จุด หนุนโดยตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ (แข็งค่ามากกว่าที่เราคาดไว้) จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ ขณะที่การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปมาก

ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 33.95-34.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มทยอยกลับเข้ามาบ้างแล้ว นอกจากนี้ หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อใกล้โซนแนวต้านแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจมีแรงขายทำกำไรช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ในช่วงปลายเดือนและช่วงปิดปีงบประมาณของบรรดาบริษัทญี่ปุ่น ก็อาจทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศจากทั้งฝั่งผู้นำเข้าและบรรดาบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของบรรดาเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะ ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ เพราะหากข้อมูลออกมาดีกว่าคาด และยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและกดดันเงินบาทได้ แต่เรามองว่า เงินบาทก็อาจยังไม่อ่อนค่าไปมากจนทะลุกรอบแนวต้านที่เราประเมินไว้ เพราะผู้ส่งออกบ้างส่วนก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ และผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอจังหวะเงินบาทอ่อน ในการเพิ่มสถานะ Long THB (มองเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น)

ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.20 บาท/ดอลลาร์