ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.94 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์

0
460

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ยังคงกดดันให้ตลาดการเงินผันผวน

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรติดตาม รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM PMI รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ยังคงเป็นปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ในช่วงทยอยปรับมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยหากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใสและแข็งแกร่ง ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ล่าสุด หรือ สูงกว่าระดับดังกล่าวได้ ซึ่งตลาดมองว่า ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัวจะยังคงช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) เดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 108.5 จุด ทั้งนี้ต้องจับตาว่ามุมมองของผู้บริโภคต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตเริ่มปรับตัวแย่ลงหรือไม่ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการของสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Non-Manufacturing PMI) เดือนกุมภาพันธ์ ที่ระดับ 54.5 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ อาจยังคงหดตัวอยู่ (ดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจอยู่ที่ระดับ 48 จุด) ท่ามกลางความต้องการซื้อสินค้าที่ลดลง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแรงกดดันเงินเฟ้อผ่านราคาสินค้าและบริการ ซึ่งอาจสะท้อนผ่านดัชนีด้านราคาในรายงานดัชนี PMI ได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ยังสูง เช่น 8.2% ตามที่ตลาดประเมิน ก็จะยิ่งหนุนโอกาสธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งผู้เล่นในตลาดล่าสุดคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate จนแตะระดับ 3.75% ได้ในปีนี้ จากระดับล่าสุดที่ 2.50% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยของ ECB ในปีนี้

▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ได้แรงหนุนจากภาคการบริการ (สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง) จะช่วยให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 4.0%y/y ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งในภาคการผลิตและภาคการบริการมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ระดับ 50.2 จุด และ 53.5 จุด ตามลำดับ

▪ ฝั่งไทย – ตลาดมองว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคมอาจยังคงถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยยอดการส่งออกอาจหดตัวต่อเนื่องราว -1.0%y/y ส่วนยอดการนำเข้าก็จะหดตัวราว -3.4%y/y และทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) ขาดดุลราว -1.5 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตของไทยก็ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง หลังภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป จีนและเอเชีย ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งภาพดังกล่าวจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิต ที่ระดับ 53 จุด นอกจากนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในฝั่งภาคการท่องเที่ยว ก็อาจช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50 จุด ในเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways Up ท่ามกลางปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าที่มีมากกว่าปัจจัยฝั่งแข็งค่า นอกจากนี้ ควรจับตาภาพตลาดหุ้นไทยที่เสี่ยงปรับฐานต่อ กดดันให้ นักลงทุนต่างชาติ อาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม (สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า -1.9 หมื่นล้านบาท และขายสุทธิบอนด์ราว -5 พันล้านบาท) แต่หากตลาดหุ้นไทยรีบาวด์ในระยะสั้น (จับตาการเคลื่อนไหวของดัชนี SET ใกล้โซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน) แรงขายสินทรัพย์ไทยก็อาจชะลอลงได้บ้าง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ตราบใดที่ตลาดยังกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด เงินดอลลาร์ก็อาจยังไม่อ่อนค่าชัดเจน ทว่าหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้บ้าง ทั้งนี้ หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทวีความรุนแรงขึ้นมาก จนตลาดปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็อาจพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หรือการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) รวมถึงเงินปอนด์อังกฤษ (GBP)

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.50-35.20 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.05 บาท/ดอลลาร์