ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.42 บาทต่อดอลลาร์

0
351

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด President’s Day ทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดการเงินอาจเบาบางลง ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) ในวันนี้ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.07% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Mining) อาทิ Anglo American +4.0% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาโลหะพื้นฐาน ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทำให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยังคงปรับตัวลดลง (Amadeus IT -2.0%, ASML -1.1%)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เนื่องจากปริมาณการทำธุรกรรมที่เบาบางในช่วงวันหยุดของฝั่งสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 103.9 จุด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ปริมาณธุรกรรมในตลาดที่เบาบางเนื่องจากวันหยุดในฝั่งสหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) แกว่งตัว Sideways ในกรอบใกล้ระดับ 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ทั้งในฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์ โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ดัชนี PMI ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาเศรษฐกิจหลัก มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังคงสดใส โดยเฉพาะในฝั่งการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี หากรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใสและไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจนอย่างที่ตลาดเคยประเมินก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการย่อตัวลงเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ แต่โดยรวมจะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือเงินดอลลาร์อยู่ ในช่วงที่ตลาดกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

เราประเมินว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินต่างรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และภาพอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ (ในช่วงวันศุกร์นี้) เงินบาทอาจผันผวน sideways ในกรอบ 34.25-34.60 บาทต่อดอลลาร์ไปก่อน นอกจากนี้ เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่ยังมีอยู่ ก็อาจทำให้เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าไปมากกว่าโซนแนวรับที่เราประเมินไว้ได้

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะในฝั่งยูโรโซน (หากข้อมูลดีกว่าคาดก็อาจหนุนให้ เงินยูโรแข็งค่าขึ้นได้บ้าง) และฝั่งสหรัฐฯ โดยรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ นั้นจะมีในช่วง 21.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย ทำให้เงินบาทอาจผันผวนได้พอควรและมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่อาจมาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ (ราคาทองคำยังคงมีผลต่อทิศทางเงินบาทพอสมควร) หากดัชนี PMI สหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง (ครั้งละ +0.25%)

อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาท/ดอลลาร์