ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์

0
325

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยดัชนี Dowjones ปรับตัวลงราว -0.46% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.03% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดอาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม กลับไม่ได้ชะลอลงตามที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวัง โดย อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 6.4% (ตลาดคาด 6.2%) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน Core CPI ก็ชะลอลงไม่มากสู่ระดับ 5.6% (ตลาดคาด 5.5%) ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 52% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.50% ในการประชุมเดือนมิถุนายน สูงขึ้นจากโอกาสเพียง 36% ในสัปดาห์ก่อนหน้า (ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool)

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน ก่อนที่จะปิดตลาด +0.08% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักอยู่ โดยเฉพาะหลังจาก รายงานข้อมูลการจ้างงานในฝั่งอังกฤษ และฝั่งยูโรโซนได้สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว รวมถึงภาพอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ชะลอลงอย่างที่ตลาดคาดหวัง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจต้องดำเนินต่อไปจนอาจแตะจุดสูงสุดที่ 5.50% หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจนอย่างที่คาดหวัง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.75% ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัว ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้รุนแรงมาก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดและหนุนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.3 จุด ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงอย่างที่ตลาดคาดหวัง นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) แกว่งตัวผันผวนหนัก ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,864 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ในจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับแถว 1,850-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้ามาซื้ออยู่บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้างเช่นกัน

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวราว +1.8% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงแนวโน้มการบริโภคในฝั่งสหรัฐฯ ที่ยังคงดีอยู่ สอดคล้องกับสภาวะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว อนึ่ง เราคงมองว่า ธีมของตลาดอาจยังเป็น “Very good economic data = Bad news for the market” หรือ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดมาก ก็อาจทำให้ตลาดกังวลว่าเฟดยังไม่มีเหตุผลที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หรือ หยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ง่ายๆ ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็อาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินได้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา อัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนมกราคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ของอังกฤษ ในเดือนมกราคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 10.2% อย่างไรก็ดี แม้ว่า อัตราเงินเฟ้ออาจชะลอลงได้บ้าง แต่รายงานข้อมูลการจ้างงานอังกฤษในวันก่อนหน้าที่ยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว ก็อาจชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษมีโอกาสชะลอตัวช้ากว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดหวัง ทำให้ BOE อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธาน ECB Christine Lagarde เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ เราประเมินว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อค่าเงินบาทจะยังคงมีอยู่ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงิน ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเดินหน้าขายสุทธิสินทรัพย์ไทย ทั้งหุ้นและบอนด์ อย่างต่อเนื่องได้ กอปรกับในเชิงเทคนิคัล เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน (สัญญาณ RSI และ MACD ต่างก็ชี้โอกาสอ่อนค่าต่อ) ทำให้ในระยะสั้น ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อจนทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราเคยประเมินไว้ได้ ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะหากเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องทะลุระดับดังกล่าวได้จริง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่าง ผู้ส่งออก มีการปรับแผนไม่รีบขายเงินดอลลาร์และอาจไปรอทยอยขายดอลลาร์ในช่วงสูงกว่า 34.00 บาทต่อดอลลาร์ เช่น 34.20 บาทต่อดอลลาร์

อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์