ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.70 บาทต่อดอลลาร์

0
387

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลาง ความกังวลว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้สูงและอยู่ในระดับสูงดังกล่าวได้นานกว่าคาด หลังตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดคาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 5.25% ก่อนจะปรับลดลงเพียง -0.25% ปลายปี) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวแตะระดับ 3.64% กดดันให้ หุ้นในกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยังคงปรับตัวลง (Apple -1.8%, Alphabet -1.8%) ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.00% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.61%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.78% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งส่งผลให้หุ้นเทคฯ ฝั่งยุโรปปรับตัวลงเช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (Adyen -4.8, ASML -3.0%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Kering -3,8%, Dior -2.4%) ท่ามกลางความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ร้อนแรงขึ้น

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.6 จุด ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนกลับมาถือเงินดอลลาร์มากขึ้น (รวมถึงปรับลดหรือ cut loss สถานะ Short เงินดอลลาร์) ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติมในจังหวะย่อตัวใกล้โซนแนวรับ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

สำหรับวันนี้ ในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ไปมาก จะทำให้ RBA มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 3.35% ได้ในครั้งนี้ และเป็นไปได้ที่ RBA จะยังคงส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

นอกเหนือจากผลการประชุมของ RBA ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด (ช่วงประมาณ 00.40 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางการปรับนโยบายการเงิน หลังข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุดออกมาดีกว่าคาดไปมาก

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงถูกกดดันให้ผันผวนอ่อนค่าลง จากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงแรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ทำให้ในวันนี้ การอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจชะลอลงได้บ้าง โดยเบื้องต้น โซนแนวต้านสำคัญของเงินบาทได้ขยับมาอยู่ในช่วง 33.75 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราเคยประเมินไว้ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เราประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้านไปไกลมากนัก นอกจากนี้ เราคาดว่า ผู้ส่งออกบางส่วนจะทยอยขายเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง หลังเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.80 บาท/ดอลลาร์