ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.86 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 32.98 บาทต่อดอลลาร์

0
334

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรติดตาม ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนได้ นอกจากนี้ ควรระวังความเสี่ยงจากประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ (Debt Ceiling)

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – แม้ว่าเดือนธันวาคมจะเป็นช่วงที่ผู้คนมักจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาล แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจกดดันยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยเฉพาะในส่วนของยอดขายยานยนต์ หรือสินค้าคงทน อย่าง เฟอนิเจอร์ รวมถึง การปรับตัวลงของราคาพลังงานที่อาจกดดันยอดขายที่เกี่ยวกับพลังงานเช่นกัน จะทำให้โดยรวม ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนธันวาคม อาจหดตัว -0.9% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น ก็อาจทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มมีมุมมองสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราลดลงเป็น +0.25% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ John Williams, Lael Brainard, Patrick Harker และ Susan Collins เป็นต้น และนอกเหนือจาก รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ จะเริ่มมีความน่าสนใจและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ เนื่องจากหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐฯ เสี่ยงที่จะแตะระดับเพดานหนี้ ในวันที่ 19 มกราคมนี้ ทำให้ล่าสุดรัฐมนตรีคลัง Janet Yellen (อดีตประธานเฟด) ได้ออกมาเรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งพิจารณาขยายเพดานหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ (Default risk) โดยในอดีตที่ผ่านมา ตลาดการเงินมักผันผวนและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หากเผชิญความเสี่ยงปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ (Debt Ceiling) ซึ่งในภาวะดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดมักเลือกเทขายสินทรัพย์เสี่ยง และเลือกที่จะถือทองคำ (หรือเงินเยนญี่ปุ่น) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

▪ ฝั่งยุโรป – ฤดูหนาวของยุโรปที่อุ่นกว่าปกติ ทำให้ปัญหาขาดแคลนพลังงานหรือวิกฤตพลังงานไม่ได้เลวร้ายมาก ซึ่งภาพดังกล่าวได้สะท้อนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปในช่วงที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดและตลาดก็คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมกราคม ก็อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -15 จุด จากระดับ -23.3 จุด ในเดือนธันวาคม สะท้อนมุมมองของบรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่วนในฝั่งอังกฤษ ตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนธันวาคม จะชะลอลงสู่ระดับ 10.5% ตามการปรับตัวลงของราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ ทว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ 2% ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOE จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 4.50% ได้ในปีนี้ (ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.50%)

▪ ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการทยอยส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด/ตึงตัวมากขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% พร้อมทั้งคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ที่ระดับ 0.00%+/-0.50% ตามเดิม แต่หาก BOJ มีการพูดถึงการทบทวนกรอบของบอนด์ยีลด์ 10 ปี หรือ ทบทวนผลกระทบของนโยบาย Yields Curve Control รวมถึงมีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ผู้เล่นในตลาดอาจตีความว่า BOJ ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับถัดไปแถว 126 เยนต่อดอลลาร์ได้ ในทางกลับกัน หาก BOJ ย้ำจุดยืนไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ก็อาจเห็นเงินเยนญี่ปุ่นผันผวนอ่อนค่าสู่ระดับ 130.5 เยนต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน นอกเหนือจากการประชุมของ BOJ ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) และ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อเนื่อง +0.25% สู่ระดับ 3.00% และ 5.75% ตามลำดับ ส่วนในฝั่งจีน ตลาดคาดว่า ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในช่วงปลายปีก่อนหน้า จะกดดันให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ชะลอลงชัดเจน โดยเศรษฐกิจอาจขยายตัวเพียง +1.6%y/y ทำให้ทั้งปี เศรษฐกิจจีนอาจโตน้อยกว่า +3.0%y/y ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนธันวาคมก็อาจสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาหนัก อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) อาจหดตัวถึง -9%y/y และอัตราการว่างงาน (Jobless Rate) ก็อาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 5.8%

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลง และผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากตลาดเผชิญปัจจัยเสี่ยงและเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญในช่วง 33.30-33.50บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติก็รอจังหวะเพิ่มสถานะ Short USDTHB ตามความหวังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้เงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ เงินดอลลาร์ก็อาจแข็งค่าขึ้นได้ หรือ ในกรณีที่ BOJ ยืนกรานไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อาจผันผวนอ่อนค่าและช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นเงินดอลลาร์ได้

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.70-33.30 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-33.00 บาท/ดอลลาร์