ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์

0
451

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจเกินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังจากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้แย่อย่างที่ตลาดเคยกังวล โดยล่าสุดข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ก็ต่างออกมาดีกว่าคาด (ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ประกาศในสัปดาห์นี้ก็ออกมาดีกว่าคาดเช่นกัน) ซึ่งความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับทิศทางดอกเบี้ย/บอนด์ยีลด์ ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.18% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.45%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.97% จากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่กดดันให้หุ้นกลุ่มเทคฯ ฝั่งยุโรปก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป หลังอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 3 ออกมาแย่กว่าคาด (-0.3%q/q หรือ +1.9%y/y)

ในส่วนตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวในกรอบใกล้ระดับ 3.70% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นเล็กน้อย จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มกังวลว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้แย่ลงหรือชะลอตัวลงหนักตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เราคงมองว่า หากบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจเป็นจังหวะที่ดีในการทยอยเข้าซื้อ เพื่อเพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย ไว้รับมือภาพเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้นในปีหน้า ขณะที่ downside risk ของการถือครองบอนด์ระยะยาวก็อาจมีอยู่จำกัด ยกเว้นกรณีที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่าระดับ 5.50% หรือ 6.00% ได้

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.4 จุด หนุนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปได้มากกว่าคาด อย่างไรก็ดี แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง แต่ก็มีสาเหตุหลักจากความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาจรอจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำในการทยอยเข้าซื้อ ทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้เช่นกัน

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่อง รวมถึงราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (PCE) ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิด อาจเพิ่มขึ้น +5.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน ก็อาจเพิ่มขึ้นเพียง +4.6%y/y นับว่าเป็นการชะลอลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีชี้วัดภาวะเงินเฟ้อที่เฟดจับตามองใกล้ชิด และหากดัชนี PCE และ Core PCE ชะลอลงตามคาดและยังคงชะลอลงในอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง ก็จะสะท้อนว่า คาดการณ์ของเฟดล่าสุดอาจมองแนวโน้มเงินเฟ้อสูงเกินไปบ้าง ซึ่งในกรณีที่ ดัชนี PCE และ Core PCE ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปไกลเกินกว่าระดับ 5.00% ซึ่งอาจช่วยให้บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบที่กว้างได้ หลังจากพลิกกลับมาอ่อนค่าลง จากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง โดยเรามองว่า เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าต่อได้บ้าง หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งอาจเห็นแรงขายทำกำไรหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เราคงประเมินว่า แม้เงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ก็อาจจะไม่ทะลุโซนแนวต้านแถว 35.00-35.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาด อย่างบรรดาผู้ส่งออก ต่างก็รอจังหวะการอ่อนค่าของเงินบาทในการทยอยขายเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติที่ยังคงมีมุมมองเชื่อว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ ก็รอจังหวะในการเพิ่มสถานะ Short USDTHB อยู่บ้าง

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดการเงิน ในช่วงก่อนและหลังตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ซึ่งหากเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงตามคาด หรือ มากกว่าคาด ก็อาจทำให้ตลาดพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และเราอาจเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ (อาจมีแรงส่งแข็งค่าเพิ่มเติม หากราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นด้วย) แต่เงินบาทก็อาจแข็งค่าไม่เกินกว่าโซนแนวรับที่เราเคยประเมินไว้แถว 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์

การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-35.00 บาท/ดอลลาร์