ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.27 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.39 บาทต่อดอลลาร์

0
663

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +0.96%หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Microsoft +2.9%, Alphabet +2.2% ส่วนหุ้น Meta +6.5% หลังบริษัทเตรียมเปิดเผยแผนการลดการจ้างงานครั้งใหญ่ในสัปดาห์นี้ ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาต้นทุนการดำเนินธุรกิจของ Meta ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil, Chevron +1.2%) ท่ามกลางความหวังว่าเศรษฐกิจจีนอาจกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น หากทางการจีนพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID อย่างไรก็ดี เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองอย่างชัดเจนอีกครั้ง

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +0.33% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากมุมมองของบรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ที่เริ่มมีมุมมองเป็นบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นยุโรปมากขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซน (Sentix Investor Sentiment) ที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยส่วนหนึ่งมาจากความกังวลวิกฤตพลังงานที่ลดลง หลังอุณหภูมิของฤดูหนาวยุโรปอาจสูงกว่าช่วงปกติ และการเก็บสำรองแก๊สธรรมชาติของยุโรปโดยรวมอยู่ในระดับสูง

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.22% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มแกว่งตัว Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการเมืองรวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ในช่วง 2 ปี ข้างหน้าก่อนจะถึงการเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 110.2 จุด กดดันโดยแรงขายเงินดอลลาร์ หลังตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ เงินดอลลาร์มีความน่าสนใจน้อยลงในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งยุโรป อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่ปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับ 1.00 ดอลลาร์ต่อยูโร ได้อีกครั้ง หลังบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของ ECB กอปรกับตลาดหุ้นยุโรปที่อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินยูโรทยอยแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้น ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านและย่อตัวลงตามแรงขายทำกำไรสู่ระดับ 1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม คือ การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ (the US Midterm Election) ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยชี้ชะตาทิศทางการเมืองสหรัฐฯ และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 2 ปี ข้างหน้า จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทั้งนี้ เราคาดว่า ผลการเลือกตั้งจะทยอยรับรู้ได้ในช่วงสายของวันพุธ ทำให้ตลาดการเงินอาจผันผวนไปตามผลการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ เราประเมินว่า มีโอกาสที่การนับคะแนนอาจใช้เวลานานหลายวันได้ เนื่องจากบางรัฐที่อาจเป็นตัวตัดสินผลการเลือกตั้งจะมีการนับคะแนนผ่านไปรษณีย์ที่ช้า อย่างไรก็ดี ตลาดประเมินว่า คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ลดลงท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง จะส่งผลให้ พรรครีพลับริกันจะสามารถกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ได้ ส่วนวุฒิสภามีโอกาสที่พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจยังครองเสียงข้างมากได้ ซึ่งการแบ่งขั้วทางการเมืองในสภาคองเกรสอาจทำให้การเมืองสหรัฐฯ เผชิญปัญหามากขึ้นและการผ่านร่างกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็อาจเผชิญอุปสรรคและการคัดค้านจากฝ่ายตรงข้าม

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภายใต้ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง จะช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ ตามที่เราคาดการณ์ในวันก่อนได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ความผันผวนในตลาดการเงินจะเริ่มกลับมาในช่วงที่ผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา หากพรรคการเมืองของประธานาธิบดีปัจจุบัน สูญเสียอำนาจการครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส (อาจเสียอำนาจทั้งในสภาผู้แทนฯ หรือ วุฒิสภา หรือ ทั้งสองสภา) อย่างในปี 1994 และ ปี 2010 ตลาดอาจกังวลปัญหาการเมืองสหรัฐฯ และเลือกที่จะปิดรับความเสี่ยงและถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 3%-4% ได้ในระยะสั้น

ทั้งนี้ เราคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด ตราบใดที่ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังมีทิศทางซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิ ขณะเดียวกันผู้ส่งออกบางส่วนก็เริ่มพิจารณาขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะหากเงินบาทแข็งค่าใกล้โซนแนวรับ 37.00-37.10 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.10-37.40 บาท/ดอลลาร์