ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์“ แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์

0
847

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงรุนแรง หลังตลาดกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุม FOMC นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางหลักอื่นๆ และรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญของผู้เล่นในตลาด คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด หรือ FOMC โดยเรามองว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เฟดอาจไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเท่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (ตลาดมองว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 4.50%-4.75%) โดยคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือ Dot Plot ใหม่อาจสะท้อนว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 4.00%-4.25% ในปีนี้ ก่อนที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในปีหน้า และอาจลดลงสู่ระดับ 3.25%-3.50% ในปี 2024 หลังเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางส่งสัญญาณชะลอลง อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมชะลอลงมากขึ้น ซึ่งเราคาดว่า เฟดอาจปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าลงบ้าง พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราการว่างงานขึ้นเล็กน้อยในปีหน้า รวมถึงปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ เมื่อเทียบกับคาดการณ์เศรษฐกิจในการประชุมเดือนมิถุนายน ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ตลาดคาดว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจหดตัวในอัตราชะลอลง หนุนโดยการใช้จ่ายของผู้คนที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะสอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่ยังคงขยายตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (S&P Global Services PMI) เดือนกันยายน อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 45.5 จุด จาก 43.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวต่อเนื่อง ในอัตราชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ยังสูงอยู่ โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 51.3 จุด จากระดับ 51.5 จุด ในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สู่ระดับ 2.25% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี BOE อาจแสดงความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดการเงินผันผวน โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ (GBP) อาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลงได้ แม้ว่า BOE จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดคาดว่า รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการของยูโรโซนและอังกฤษ จะยังคงสะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจยุโรป ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและภาวะชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนในเดือนกันยายน อาจปรับตัวลงต่อสู่ระดับ 48.7 จุด และ 49 จุด ตามลำดับ นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีในวันอาทิตย์ โดยผลโพลล่าสุดสะท้อนว่า พรรค Brothers of Italy ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลปัญหาการเมืองยุโรปมากขึ้นได้

ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า แนวโน้มการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายประเทศฝั่งเอเชียจะยังคงหนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางในเอเชีย โดยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สู่ระดับ 4.25% ส่วนธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจขึ้นดอกเบี้ยราว +0.25% สู่ระดับ 4.00% ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมกับเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี เพื่อตรึงให้บอนด์ยีลด์ ไม่เกินกว่าระดับ 0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ นอกจากนี้ BOJ ยังไม่ได้เผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อมากเท่ากับธนาคารกลางอื่นๆ เพราะแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นจะเร่งขึ้นสู่ระดับ 2.9% ในเดือนสิงหาคม แต่อัตราเงินเฟ้อเมื่อหักราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core Inflation) ก็อยู่ที่ระดับเพียง 1.5% ซึ่งยังไม่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.00% ของ BOJ

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่าดุลการค้าของไทยในเดือนสิงหาคมอาจขาดดุลน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงาน ทำให้ยอดการนำเข้าโตราว 18%y/y ส่วนยอดการส่งออกยังโตได้ราว +7%y/y

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่า จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุม FOMC ซึ่งเงินบาทอาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงพร้อมกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยหากแรงขายสินทรัพย์ไทยเริ่มลดลง หรือนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยและบอนด์ไทยในจังหวะย่อตัวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ อนึ่ง เราประเมินแนวต้านเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.20 ส่วนแนวรับจะอยู่ในโซน 36.50-36.70 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้หรือแกว่งตัว Sideways ในระยะสั้น หลังสัญญาณเชิงเทคนิคัล “Bearish Divergence” ของ RSI ยังคงอยู่ ในกราฟค่าเงินบาทหลายกรอบเวลา (Time Frame) ทั้งกราฟเงินบาท รายวัน (Daily) รายสัปดาห์ (Weekly) และรายเดือน (Monthly)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากและมีโอกาสย่อตัวลงได้ หลังตลาดได้ประเมินว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 4.50%-4.75% ทำให้หาก Dot Plot ใหม่ของเฟดไม่ได้สะท้อนแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างที่ตลาดคาด ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจยังได้แรงหนุนจากต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทำให้เงินดอลลาร์ยังไม่กลับมาอ่อนค่าลงหนักและมีโอกาสแกว่งตัวค่อยๆ อ่อนค่าลงแบบ sideways down

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.50-37.20 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.70-36.90 บาท/ดอลลาร์