สวทช. จับมือ สภาหอการค้า และ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน ดันผู้ประกอบการทุเรียนไทยสู่สากลด้วย ThaiGAP พร้อมเปิดตัวแอป ThaiGAP Platform Serviceขอมาตรฐานได้เร็วต่อใจ

0
1748

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) นำผู้ประกอบการทุเรียนไทยกลุ่มสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จ.จันทบุรี ที่เข้าร่วม “โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” ซึ่ง สวทช. ดำเนินงานร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐานThaiGAPที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอาเซียน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วยความปลอดภัยของสินค้าเกษตร ล่าสุดหนุนผู้ประกอบการให้ได้ ThaiGAPแล้วมากกว่า 40 ราย และในงาน THAIFEX 2018 ได้เปิดตัวระบบใหม่ ThaiGAP Platform Service แอพพลิเคชั่นวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อขอรับรองมาตรฐาน ThaiGAPนำร่องที่ผลไม้ทุเรียนไทย กับกลุ่มสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จ.จันทบุรี หวังสร้างมาตรฐานส่งออกสินค้าได้ถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า มาตรฐาน ThaiGAP เป็นมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยของภาคเอกชน ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย หรือสถาบัน ThaiGAPของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตผักและผลไม้ของไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยมีระบบตรวจสอบย้อนหลังในรูปแบบ QR Code จาก GISTDA ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ผลิตได้ง่ายโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ

 

นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า “โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” ดำเนินการโดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันสนับสนุนผู้ประการผักและผลไม้ไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐานไปแล้วมากกว่า 40 รายจากทั่วประเทศ สร้างความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกสินค้าได้เป็นอย่างมีประสิทธิผล และขณะนี้ ได้สนับสนุนผลไม้ “ทุเรียนไทย” สู่สากล ด้วยมาตรฐาน ThaiGAPในโครงการ “การพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ThaiGAPของสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด” ให้กับสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ภายใต้โครงการ

ด้าน ผศ.ดร.ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ โปรแกรม ITAP และอาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวถึงนวัตกรรมระบบตรวจรับรอง ว่า ThaiGAP Platform Serviceพัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการนำระบบแอพพลิเคชั่นเข้ามาใช้ในการตรวจรับรองผล โดยรวบรวมข้อมูลภาคสนามด้วยอุปกรณ์พกพา เข้าสู่ระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ ซึ่งติดตั้งที่สถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ผลได้ในเบื้องต้น และสามารถให้คำแนะนำผ่านระบบเวลาจริง (real time) หรือสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลองค์ความรู้ เป็นผลให้เกิดการสร้างและ/หรือต่อยอดองค์ความรู้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานสำหรับการส่งออกสินค้าได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว โครงการนี้จึงเป็นการสร้างนวัตกรรมระบบตรวจรับรอง ThaiGAP เพื่อส่งเสริมความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน ของภาคการเกษตรไทย ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

“โดยในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนการรับรองมาตรฐานจากระบบเอกสารเป็นระบบเทคโนโลยีดิจิทัล 2) การติดตามสถานะการขอรับรอง และเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบ 3) การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่ด้วยการเรียนรู้ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4) การบันทึกข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการรับรองมาตรฐาน ThaiGAPซึ่งสามารถตรวจสอบการรับรองได้ตั้งแต่เริ่มต้น รับรู้ และเก็บเกี่ยว 5) การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบ Meeting และ 6) การจัดทำรายงานเพื่อขอรับรองมาตรฐาน ThaiGAP” หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ กล่าว

     

ขณะที่ นายชรัตน์ เนรัญชร สมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด และรองเลขาธิการหอการค้าจันทบุรี กล่าวว่า ในการยกระดับคุณภาพผลผลิตทุเรียนของกลุ่มสมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ ได้รับคำแนะนำจากหอการค้าจันทบุรีผ่านทางสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อให้ทำมาตรฐาน ThaiGAPซึ่งเน้นในเรื่องอาหารปลอดภัย ทำให้แปลงทุเรียนในท่าใหม่ได้รับมาตรฐาน ThaiGAPแล้วหลายรายและกำลังจะได้รับการรับรองอีกจำนวนมากในเร็ววันนี้ เพราะเราในฐานะผู้ประกอบการผลไม้ไทยอยากให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ทุเรียนที่มีความปลอดภัย รวมถึงยังสามารถขยายตลาดไปได้กว้างขวางมากขึ้น นอกจากนี้ จุดเริ่มต้นจากการสนับสนุนผลไม้ทุเรียน ยังสามารถต่อยอดขยายไปช่วยยังกลุ่มผลไม้อินทผาลัมของสมาชิกฯ ในการขอรับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAPได้ด้วย โดยขณะนี้แปลงลำไยของตนได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAPเป็นที่เรียบร้อยแล้ว