ทีเส็บมุ่งดันนวัตกรรมและเทคโนโลยี เสริมการตลาดไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ

0
442

ทีเส็บเปิด 3 กลยุทธ์หลัก ยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีในแผนห้าปี มุ่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในตลาดไมซ์โลกด้วยนวัตกรรมหนึ่งในโครงการตามแผนคือ การจัดงาน MICE Techno Mart 2023 การแสดงสุดยอดนวัตกรรมทั้งหุ่นยนต์ และ Data Analysis สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมกับเป็นตลาดจับคู่ธุรกิจผู้ประกอบการไมซ์และผู้พัฒนาทางเทคโนโลยี เพื่อผลักดันการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในวงการอุตสาหกรรมไมซ์ให้สามารถรองรับความต้องการใหม่ๆ ในยุคหลังโควิด 19

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในหลายภาคส่วน ทีเส็บจึงเร่งพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม (MICE Intelligence & Innovation) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์และเศรษฐกิจของประเทศไทยและส่งเสริมให้เกิด Value–Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมไปพร้อมกัน ภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลัก
1. ศูนย์ข้อมูลและการให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมไมซ์ (Intelligence Center & Consultation Support) มุ่งถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ การให้คำปรึกษาต่างๆ ด้านไมซ์ในส่วนที่เกี่ยวกับทิศทางของวงการที่กำลังเป็นที่จับตามอง ภาพรวมของอุตสาหกรรมไปจนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม การจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติด้านธุรกิจไมซ์ การพัฒนากระบวนการมาตรฐานไมซ์ (MICE Standard Process Development) โดยมีการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมไมซ์ไทย หรือ Thailand MICE Index เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. บริการนวัตกรรมเพื่อความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมไมซ์ (Innovation Service for MICE Advancement) ส่งเสริมให้เกิดการใช้นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ในกระบวนการจัดงานไมซ์ของผู้ประกอบการร่วมกับผู้ให้บริการนวัตกรรมในรูปแบบการสนับสนุนด้วยคูปองนวัตกรรม (Inno-Voucher) รวมถึงการใช้ BizConnect ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับการจัดงานไมซ์ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนของงานไมซ์
3. แพลตฟอร์มตลาดไมซ์ (MICE Marketplace Platform) มุ่งส่งเสริมไมซ์อีคอมเมิร์ซ พร้อมทั้งพัฒนาตลาดดิจิทัลและแคมเปญการตลาดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทีเส็บมีแพลตฟอร์ม Thai MICE Connect ที่รวบรวมข้อมูลสินค้าและบริการในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ถึง 12 กลุ่มธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้จัดงานไมซ์สามารถเชื่อมโยงไปถึงผู้ให้บริการได้ในระบบ เพื่อจัดทำแผนการจัดงานไมซ์ด้วยตนเองหรือผ่านระบบอัตโนมัติ (Auto Matching) โดยมีผู้ประกอบการกว่า 5,000 ราย ร่วมเปิดร้านค้าในรูปแบบออนไลน์ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายจิรุตถ์ กล่าวต่อไปว่า ทีเส็บยังได้ดำเนินโครงการ MICE Winnovation อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในการยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดทำแหล่งรวบรวมข้อมูล การสนับสนุนเงินทุนด้านการตลาด การจัดหาเวทีพบปะเจรจาธุรกิจ และการให้ความรู้เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานได้จริง รวมถึงการสร้างความแตกต่างทางธุรกิจเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีระดับสากล
ทั้งนี้ จึงได้กำหนดจัดงาน MICE Techno Mart 2023 ภายใต้โครงการ MICE Winnovation ขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม 2566 ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค แกรนด์ ฮอลล์ ซึ่งครั้งนี้ได้เปิดกว้างการประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ Data Analytics เทคโนโลยี AR/VR และอื่นๆ กว่า 10 หมวดเทคโนโลยี พร้อมทั้งสนับสนุนผู้จัดงานและผู้บริการสถานที่จัดงานให้ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงาน โดยทีเส็บจะสนับสนุนให้รูปแบบคูปองนวัตกรรม MICE Inno-Voucher มูลค่ารวมกว่า 3.5 ล้านบาท

ภายในงานยังมีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ หรือ Business Matching เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและต่อยอดธุรกิจร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ซื้อจากผู้ประกอบการไมซ์ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 200 ราย และกลุ่มผู้ขายซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีจำนวน 27 ราย โดยคาดว่าจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจประมาณ 200 คู่ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาและการบรรยายพิเศษจากวิทยากรมากประสบการณ์ทั้งในประเทศไทยและระดับโลกมาร่วมแบ่งปันและสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการด้วย
โครงการ MICE Winnovation ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมโรงแรมไทย สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ และภาคการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

โดยที่ผ่านมาโครงการ MICE Winnovation ให้การสนับสนุนนวัตกรรมสำหรับการจัดงานไปแล้ว 64 งาน มีเครือข่ายผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะกับอุตสาหกรรมไมซ์บนแพลตฟอร์ม MICE Innovation Catalog กว่า 240 นวัตกรรม มีผู้เข้ามาใช้งานเป็นจำนวน 13,129 ราย สร้างการรับรู้ได้ถึง 68,959 เพจวิว นอกจากนี้ยังมีการจับคู่เจรจาธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งสิ้น 478 คู่ และได้มีการยกระดับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการไมซ์ทั่วประเทศกว่า 500 ราย
อีกทั้ง ในปี 2565 โครงการนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นสุดยอดกลยุทธ์ทางการตลาดในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศสาขาการตลาด (UFI Marketing Awards 2022) จากสมาคมการแสดงสินค้าโลก หรือ UFI (The Global Association of Exhibition Industry) ด้วย