ชุมชนแม่จริม จังหวัดน่าน ตัวอย่างการบูรณาการทุกมิติ ตอบโจกย์การพัฒนา แก้ปัญหาพื้นที่สูง

0
80

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริมมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งตำบลแม่จริม ครัวเรือนทั้งหมด 587 ครัวเรือน และจำนวนประชากรทั้งหมดจำนวน 2,325 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชหลักได้แก่ ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น และประชากรบางส่วนประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม ได้แก่ หัตถกรรม จักสานหวาย และการทำไม้กวาดดอกหญ้า พื้นที่ทำกินส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา และเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้

อย่างไรก็ตาม “ตำบลแม่จริม” มีการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ ราษฎรรวมกลุ่มขออนุญาตทำกินในพื้นที่ป่าสงวนตามมาตร 19 ของกรมป่าไม้ ปัจจุบันทำให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลแม่จริม สามารถทำกินได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ยังมีปัญหาความยากจนอยู่เพราะทำเกษตรไม่ถูกต้องไม่ตอบโจทย์ มีการใช้พื้นที่มากในการปลูกข้าวโพดทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน และใช้สารเคมี และรายได้ไม่เพียงพอ มีปัญหาหนี้สินสะสม

ต่อมาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องตำบลแม่จริมอย่างบูรณาการ ทั้งกำหนดแผนการพัฒนาชุมชน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าช่วย และกำหนดแผนที่ดินรายแปลงพัฒนาทั้งชุมชน มีการส่งเสริมปลูกพืชผักและไม้ผล ลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด และปัญหาหมอกควัน
นายมนัส กุณนา หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาตำบลแม่จริม มีการใช้แผนที่ดินรายแปลงเป็นตัวขับเคลื่อนชุมชน และหาส่วนร่วมการทำงานของคนในพื้นที่ทำให้การวางแผนในการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ กรมป่าไม้อนุญาตให้มีการพัฒนาพื้นที่ได้ถูกต้องบนพื้นที่ป่าสงวน ตามกฎหมายมาตร 19 โดยอยู่ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชผลไม้ยืนต้นในแนวทางขององค์ความรู้โครงการหลวง ทำให้เกิดการแก้ปัญหาในทุกมิติ สามารถแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง เพิ่มรายได้ปลดเปลื้องหนี้สินให้ลดน้อยลง มีรายได้จากการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผักปลอดภัยบริโภคในชุมชน

ทำให้วันนี้ชุมชนตำบลแม่จริม เป็นชุมชนที่อยู่เย็นเป็นสุข ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นพ้นขีดความยากจน ต่อยอดการทำการเกษตรตามแนวของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน มีการรณรงค์ให้ปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวขึ้นมากกว่า 7,890 ไร่ ตามแผนของชุมชนตำบลแม่จริม ที่จะก้าวไปสู่การขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตและเป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางของ SDGs ต่อไป

นายสายันต์ ไฟด้วง ผู้นำเกษตรกรบ้านตอง กล่าวว่า เกษตรกรในตำบลแม่จริมดั้งเดิมมีอาชีพหลักคือปลูกข้าวโพด ทำไร่เลื่อนลอย มีส่วนทำให้เกิดปัญหาไฟป่าซ้ำซาก และปัญหาหมอกควัน น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และมีหนี้สินสะสม ต่อมาสวพส. ได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ทั้งระดับชุมชนและอำเภอ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเพิ่มฝายชุมชน ทำระบบป่าไผ่ เพิ่มระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำได้ภายใน 5 ปี

ปัจจุบันเกษตรในพื้นที่มีสิทธิ์ทำกินในพื้นที่อย่างถูกต้องและชัดเจน ชุมชนสามารถรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต่อยอดการตลาดและการมีรายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิก 178 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 1.3 ล้านบาท และยกระดับตำบลแม่จริมเป็นตำบลต้นแบบ ของการพัฒนาพื้นที่สูงที่ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน บนพื้นที่สูง ในทุกมิติด้วยการบูรณาการนับเป็นชุมชนต้นแบบ ตามโจทย์การพัฒนาพื้นที่สูง คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้