ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.74 บาทต่อดอลลาร์

0
548

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง ทดสอบโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงใกล้แนวรับ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงเทขายทำกำไรหลังกลับมาเปิดทำการ โดยผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ซึ่งปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Conoco Phillips -2.8%, Chevron -2.3%, ) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางความกังวลอุปสงค์ความต้องการใช้พลังงานอาจลดลง หากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ชะลอตัว

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ยังคงปรับตัวลงราว -0.59% ท่ามกลาง ความกังวลว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ของทางการจีนอาจน้อยเกินไปและอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและกลุ่มเหมืองแร่ (Dior -1.4%, Anglo American -4.0%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ หุ้นกลุ่ม Healthcare (Sanofi +3.7%, Novo Nordisk +0.7%)

ทางฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ผู้เล่นต่างไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาทยอยซื้อบอนด์ระยะยาว ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นก่อนหน้า ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.73% ซึ่งเราคาดว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว อาจแกว่งตัวในกรอบ sideway เพื่อรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดและธนาคารกลางหลักอื่นๆ รวมถึงรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip)

ในส่วนตลาดค่าเงิน ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่เชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้ง หากภาพเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงต่อเนื่องและบรรยากาศในตลาดการเงินก็อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ทว่า ราคาทองคำกลับถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับ 1,940-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยไฮไลท์จะอยู่ที่ การแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ต่อสภาคองเกรส ซึ่งประธานเฟดอาจส่งสัญญาณเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปของเฟดได้

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคม จะอยู่ในระดับสูงเพียงใด โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมอาจจะยังคงสูงถึง 8.5% ทำให้ BOE จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย +25bps สู่ระดับ 4.75% พร้อมกับส่งสัญญาณชัดเจนว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องยังมีความจำเป็น

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้บ้าง ตามโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าในช่วงคืนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เรายังคงมองว่า เงินบาทอาจไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า ในการทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB และขายเงินดอลลาร์ สำหรับผู้ส่งออกบางส่วน

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย เงินบาทก็มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ (ตลาดรับรู้ในช่วง 13.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ยังคงอยู่ในระดับสูง หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ BOE ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะช่วยหนุนให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง แต่ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นมาก โดยเราประเมินว่า แนวรับในระยะสั้นอาจอยู่ในโซน 34.60-34.70 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด รวมถึงแรงซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงนี้

ทั้งนี้ ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด หลังล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทย แต่ในส่วนตลาดบอนด์ยังไม่เห็นการกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยที่ชัดเจนอย่างที่เราประเมินไว้

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.90 บาท/ดอลลาร์