ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.65 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.75 บาทต่อดอลลาร์

0
943

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลาง แรงเทขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ จากความผิดหวังต่อรายงานผลประกอบการ อาทิ Alphabet (Google) -9.1%, Microsoft -7.7% และ Meta (Facebook) -5.6% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.04% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -0.74% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการคลายกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดของผู้เล่นในตลาด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) ลดลงต่อเนื่อง -10.9% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพตลาดบ้านที่ซบเซามากขึ้น จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและราคาบ้านที่ยังอยู่ในระดับสูง

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อ +0.66% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งยุโรปที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากความหวังการชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง ซึ่งช่วยให้หุ้นกลุ่มเทคฯ ของยุโรป ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ อาทิ Prosus +4.1%, Adyen +2.6% อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงวิกฤตพลังงานในช่วงฤดูหนาว รวมถึง การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเป็นปัจจัยที่กลับมากดดันตลาดหุ้นยุโรปได้

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดคาดการณ์การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนธันวาคมและปรับลดมุมมองต่อจุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายเฟด (Terminal Rate) เหลือ 5.00% รวมถึงความกังวลผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเข้ามาทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.01% (ลดลงจากระดับเกือบ 4.25% ภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์) สอดคล้องกับมุมมองที่เราเคยประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในการทยอยเข้าซื้อ เพื่อเตรียมพอร์ตให้พร้อมรับมือกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ หรือ การกลับตัวของนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 109.6 จุด หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม นอกจากนี้ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะกลับมาปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ผู้เล่นบางส่วนก็ทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์และเลือกที่จะถือสินทรัพย์ปลอดภัยอื่นๆ อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 146 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ทองคำ ก็ได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เช่นกัน โดยราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 1,671 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอาจมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์จะทำให้ ECB ตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง +0.75% สู่ระดับ 1.50% (Deposit Facility Rate) อย่างไรก็ดี ควรจับตาการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มนโยบายการเงิน ECB ในช่วงที่ประธาน ECB ออกมาตอบคำถามบรรดาสื่อมวลชน (Press Conference)โดยหาก ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจนและย้ำมุมมอง “Data Dependent” ก็อาจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังมีมุมมองเชิงลบต่อค่าเงินยูโร (EUR) กดดันให้เงินยูโรมีแนวโน้มพลิกกลับมาผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้

และนอกเหนือจากการประชุม ECB ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากผลประกอบการส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด ก็จะสามารถช่วยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คลายกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงปลายปี คือ ปัจจัยที่หนุนให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งในจังหวะเดียวกันก็หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นและทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ (ยอดซื้อสุทธิราว 6 พันล้านบาท) ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าที่คาดและหลุดโซนแนวรับ 37.80-37.90 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า ทำให้เรามองว่า มีโอกาสที่หากปัจจัยดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลง เงินบาทอาจมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้บ้าง และโซนแนวรับถัดไปอาจอยู่ในช่วง 37.40-37.50 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB เพราะถึงแม้ว่า ECB จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่หาก ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต หรือ เริ่มแสดงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้น ก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรการรีบาวด์ของค่าเงินยูโร (EUR) ได้บ้าง ทำให้เงินยูโรมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.50-37.75 บาท/ดอลลาร์