กสศ.จับมือ สพฐ. กรมสุขภาพจิต พัฒนาระบบสารสนเทศ “ช่วยเหลือนักเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน”

0
550

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเพื่อบูรณาการความร่วมมือและส่งต่อข้อมูลนักเรียนร่วมกัน

ภายใต้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การดูแลช่วยเหลือนักเรียน และระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ (School Health Hero) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นับตั้งแต่ปี 2563 สพฐ. กรมสุขภาพจิต และ กสศ. ได้ร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา เพื่อให้เกิดระบบการทำงานโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงของนักเรียนที่ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันอีกหนึ่งมิติที่มีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน โดยเป็นความร่วมมือในการทำงานเชิงลึกมากยิ่งขึ้นกับกลุ่มนักเรียนที่มีแนวโน้มความเสี่ยง หรือมีปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม และสุขภาพจิต ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต ที่ สพฐ. และ กสศ. จะบูรณาการงานเชิงระบบและกลไกเพื่อส่งต่อข้อมูลนักเรียนไปยังระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ หรือ School Health Hero เพื่อสนับสนุนให้เกิดกลไกการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการเป็นรายบุคคล การพัฒนาชุดความรู้ความร่วมมือทางวิชาการ และร่วมกันจัดทํา data catalogue ในการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนนักเรียนให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบสำคัญของการจัดทำระบบสารสนเทศ Big data ของประเทศไทย ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนผ่านเครื่องมือดิจิทัลที่ 3 หน่วยงาน คือ สพฐ. กรมสุขภาพจิต และ กสศ. จับมือกันเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนการส่งต่อข้อมูลนักเรียนเพื่อสร้างกลไกการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพ ทั้งจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมตามวัยของนักเรียนในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วทันท่วงที โดยมีความพร้อมครบทุกมิติ

ทั้งในเรื่องการส่งเสริม การป้องกัน การส่งต่อ และการดูแล ซึ่งเป็นเครื่องมือและความร่วมมือสำคัญสำหรับการจัดทำมาตรการป้องกันนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหลุดออกจากระบบการศึกษา ผ่านการระดมความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกกระทรวงศึกษาธิการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองนำร่องการพัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ครอบคลุม 28 เขตพื้นที่การศึกษา มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ 1,050 แห่ง

ดร.อัมพร ระบุว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะขยายการทำงานกับโรงเรียน สพฐ. ทั่วประเทศ เพื่อประสานแนวทางในการส่งต่อข้อมูลนักเรียน และส่งต่อความช่วยเหลือให้กับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลอย่างกรมสุขภาพจิต มาติดตามนักเรียนที่มีภาวะความเสี่ยงด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม และปัญหาสุขภาพจิตในสถานศึกษา รวมถึงประสานให้ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมองค์ความรู้สำหรับครู การคัดกรอง การจัดทำแนวทาง หรือมาตรการการป้องกันภาวะเสี่ยงด้านพฤติกรรม อารมณ์และสังคมของนักเรียน โดยการดำเนินการทั้งสามฝ่ายตกลงว่าจะรักษาข้อมูลของนักเรียนหรือผู้รับบริการเป็นความลับ ไม่มีการเผยแพร่ให้บุคคลภายนอกได้รับทราบข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมด เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของข้อมูล

นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมพัฒนาระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ (School Health HERO) ได้พัฒนาในส่วนของแบบประเมินคัดกรองนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ การจัดเตรียมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต HERO Consultant เพื่อช่วยเหลือครู และองค์ความรู้ในรูปแบบ E-Learning ด้านสุขภาพจิตเพื่อสนับสนุนครู ให้เกิดเป็นฐานข้อมูลนักเรียนด้าน พฤติกรรม อารมณ์ สังคม เพื่อการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนภายใต้โครงการเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนไทยด้วยระบบสุขภาพจิตดิจิทัล ในการลดปัญหาพฤติกรรม-อารมณ์ และสังคม ในนักเรียนกลุ่มเสี่ยง

นายแพทย์จุมภฏ กล่าวว่า ผลจากการดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2563 จนถึงปัจจุบันพบว่าจำนวนนักเรียนที่เข้าสู่ระบบ School Health HERO ได้รับการคัดกรองและดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น และยังสามารถนำนักเรียนที่เสี่ยงให้ได้รับการดูแล และในกรณีที่นักเรียนมีความยุ่งยากซับซ้อนหรือมีความจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลรักษา ให้เข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขได้

ทั้งนี้ ระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ คือระบบที่ออกแบบเพื่อให้ครูใช้เฝ้าระวัง เรียนรู้ และรับคำปรึกษา เพื่อดูแลนักเรียนที่เสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะสังคม ดูแลสุขภาพจิตนักเรียนในนักเรียนกลุ่มเสี่ยง เป็นการพลิกโฉมรูปแบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในระบบเดิมที่เน้นงานเอกสารนำไปสู่ระบบ HERO ที่มีขั้นตอนการดำเนินงานเป็นระบบ ครูสามารถเฝ้าระวังคัดกรองช่วยค้นหาเด็กกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วโดย ด้วยคำถาม 9 ข้อง่าย ๆ ในการคัดกรองเด็กได้แก่ ซนเกินไป ใจลอย รอคอยไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน ถูกเพื่อนแกล้ง แกล้งเพื่อน และไม่มีเพื่อน ให้ครูประเมินนักเรียนผ่านระบบ HERO ได้ทราบผลการประเมินนักเรียนทันที

“ความร่วมมือในครั้งนี้ คือโอกาสสำคัญที่ช่วยให้การศึกษาและการสาธารณสุขสามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น และถือเป็นการขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายในเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาสและมีความต้องการดูแลช่วยเหลือ ให้ตรงกับความตั้งใจของทั้ง 3 หน่วยงานที่จะไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการสานต่อสู่การบูรณาการการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดูแลและพัฒนาให้เด็กและเยาวชนไทยมีสุขภาพที่ดี เป็นกำลังสำคัญของสังคมในการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงต่อไป” นายแพทย์จุมภฏ กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการสร้างกลไกสำคัญส่วนหนึ่งของ ‘ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ถือเป็นความก้าวหน้าจากการมีระบบการคัดกรองนักเรียนยากจนตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งนำมาสู่การมองเห็นสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้านอื่น ๆ ของนักเรียนนอกเหนือไปจากด้านเศรษฐกิจ

ภายใต้ความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา ซึ่งมีการดำเนินงานในเขตพื้นที่นำร่องจำนวน 28 เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา 1,050 แห่งทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จ ด้านจุดเน้นการทำงานในการบูรณาการการเชื่อมโยงฐานข้อมูลนักเรียนจากการคัดกรองความยากจนโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือ CCT ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือ ทั้งกลุ่มนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการจัดสรรทุนเสมอภาคและทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานจากต้นสังกัด และกลุ่มนักเรียนทั่วไปที่เผชิญปัญหาประเภทต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานคัดกรองความเสี่ยงในมิติอื่น ๆ นอกจากความยากจน ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากการให้หลักคิดและแนวทางการทำงานร่วมกันของสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นระบบที่มีเครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงที่หลากหลายมิติ มีการประมวลผลเก็บข้อมูล ซึ่งจะช่วยทำให้ครูทราบความเสี่ยงหรือปัญหาที่นักเรียนมี เพื่อที่จะให้ครูได้ดำเนินการสนับสนุนป้องกันหรือส่งต่อนักเรียนได้ทันเวลา รวมทั้งมีการส่งต่อข้อมูลในภาพรวมสถานการณ์ของโรงเรียนขึ้นไปยังเขตพื้นที่การศึกษาและ สพฐ. ส่วนกลาง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการสนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษา และนอกเหนือจากนั้น วันนี้ที่เกิดความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของการทำงานเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ที่ให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญให้เกิดเป็นสะพานเชื่อมความช่วยเหลือจากส่วนงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาเชิงรุกได้จากการทำงานหน้างานของคุณครูผู้ปฏิบัติ

“จากการทำงานเก็บข้อมูลและพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานร่วมกันทำให้พบว่า ในปีการศึกษา 2565 สถานศึกษาดำเนินการบันทึกข้อมูลและคัดกรองนักเรียนผ่านระบบ OBECCARE จำนวน 153,483 คน เป็นนักเรียนทุนเสมอภาค จำนวนกว่า 18,226 คน ซึ่งแนวโน้มความเสี่ยงด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม หรือปัญหาสุขภาพจิต เป็นอีก 1 มิติที่มีความสำคัญและเป็นปัญญายอดฮิตที่ต้องเร่งดำเนินการ และเด็กได้รับผลกระทบจากสภาพสังคม กสศ. สพฐ. กรมสุขภาพจิต จึงเกิดการพูดคุยหารือการขับเคลื่อนงานร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน และเกิดจุดเริ่มต้นการทำงานทั้งด้านวิชาการในการพัฒนาองค์ความรู้ การส่งต่อข้อมูลร่วมกับระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ หรือ School Health Hero โดยกรมสุขภาพจิต ซึ่งจะได้มีผู้เชี่ยวชาญโดยตรงในด้านสุขภาพจิตเข้ามาร่วมช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานดำเนินการ เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นระบบงานในการส่งเสริมสนับสนุนครู และลดภาระการทำงานที่ซ้ำซ้อน และนำมาสู่การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนซึ่งจะเห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้” ดร.ไกรยส กล่าว