กรมสุขภาพจิต เผย พ.ร.บ.สุขภาพจิต ระบุชัดสามารถส่งต่อผู้ภาวะอันตรายหรือมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ปี 2564 มีผู้ถูกดำเนินการส่งต่อตามมาตรา 25 เพียงร้อยละ 21.93

0
991

วันนี้ (24 ตุลาคม 2565) กรมสุขภาพจิต เผยหากพบผู้มีความเสี่ยง มีภาวะอันตรายหรือมีความจำเป็นต้องสามารถแจ้งข้อมูลเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 พร้อมขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ใช้เหตุ
ความขัดแย้ง สร้างความรุนแรงในสังคมด้วยการทำร้ายทั้งทางกายและจิตใจแก่ผู้ที่เห็นต่าง

นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการก่อเหตุสร้างความไม่สงบในงานกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมภายในงานจำนวนมาก โดยผู้ก่อเหตุถูกระบุว่ามีอาการทางจิตเวชจนสร้างความกังวลให้กับผู้ที่อยู่ภายในงาน และเกิดข้อคำถามจากสังคมว่าบุคคลที่มีอาการทางจิตนั้นจะได้รับการดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น กรมสุขภาพจิตขอแจ้งว่าจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 14 กันยายน มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความรุนแรงรวม 3,815 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรงซ้ำจำนวน 510 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดนี้ได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาของระบบสาธารณสุข แต่สิ่งที่สำคัญคือการช่วยกันเป็นหูเป็นตาที่จะสังเกต พฤติกรรมของบุคคลที่จะนำมาซึ่งความรุนแรง เพราะตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ได้มีการกำหนดกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นบุคคลที่ตองได้รับการบำบัดรักษา (1) มีภาวะอันตราย (2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยมาตรา 23 ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการตามมาตรา 27 ดร.พญ.เบ็ญจมาส พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรมมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีผู้รับผิดชอบสถานที่คุมขังหรือสถานสงเคราะห์หรือพนักงานคุมประพฤติพบบุคคลที่อยู่ในความรับผิดชอบมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีลักษณะ ตามมาตรา 22ให้นำส่งไปยังสถานพยาบาลของรัฐซึ่งอยู่ใกล้โดยไม่ชักช้า เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้นตามมาตรา 27 ได้ทันทีเช่นกันแต่ทว่าจากการรายงานผลการดำเนินงานโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2564 พบว่า มีข้อมูลผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิตมีจำนวนทั้งสิ้น 269 ราย โดยในสัดส่วนนี้เป็นผู้ที่ถูกดำเนินการส่งต่อตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต โดยยังไม่ได้ก่อคดีเพียง 59 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 21.93 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าการนำพระราชบัญญัติสุขภาพจิตมาใช้ยังสามารถที่จะเร่งขยายการดำเนินการให้มีความเข้าใจร่วมกันในทุกภาคส่วน โดยทุกฝ่ายต้องรับทราบถึงบทบาทหน้าที่เพื่อช่วยกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงในสังคมต่อไป

นายแพทย์จุมภฏ กล่าวต่ออีกว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ ในสังคมที่มีคนอยู่ร่วมกันหลากหลาย การแก้ไขความขัดแย้งมีทั้งในเชิงบวก ซึ่งนำไปสู่การช่วยกันแก้ไขความขัดแย้งไปสู่ระบบที่ดีมากยิ่งขึ้น ส่วนความขัดแย้งเชิงลบจะนำไปสู่ความรุนแรง เกิดความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย การป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรง คือต้องมองความขัดแย้งเป็นเรื่องของระบบ มุมมองหรือทัศนคติ ไม่บ่งชี้ไปที่ตัวบุคคล โดยวิธีการแก้ไขคือการเจรจา การประนีประนอม หรือให้เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน ไม่ทำร้ายผู้เห็นต่าง ซึ่งยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างไม่มีที่สิ้นสุด จึงขอวอนสังคมให้ความสนใจต่อเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่างตระหนักแต่ไม่ตระหนกหรือวิตกกังวลมากจนเกินไป เพราะกฎหมายและการดำเนินการในกรณีนี้มีระบุไว้ชัดเจน ซึ่งหากประชาชนพบบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลทั่วไปที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ หากมีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรแจ้งเหตุสายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่ไม่รุนแรง สามารถโทรขอคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323